วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การดูแลเด็ก


การดูแลเด็ก

1. ให้การดูแลเด็กตามช่วงอายุดังนี้

1.1 แรกเกิดถึง 1 เดือน


  • การดูแลสะดือเด็ก เมื่อสะดือยังไม่หลุด ควรเช็ดสะดือให้แห้งหลังอาบน้ำทุกครั้งด้วยแอลกอฮอล์เช็ดแผล ห้ามใช้แป้งหรือผงใดๆโรยสะดือเป็นอันขาด ไม่จำเป็นต้องห่อสะดือเด็ก
  • การถ่ายอุจจาระเหลวหลายครั้งอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กที่กินนมแม่ เพราะนมแม่มีฤทธิ์ช่วยระบายอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กที่ดูดนมเก่ง แต่ถ้าถ่ายบ่อยและไม่ค่อยดูดนม ต้องรีบปรึกษาแพทย์
  • เด็กตัวเหลืองควรพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
  • ห้ามกวาดยาเด็กโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ช่องคอ เด็กอาจติดเชื้อและมีการอักเสบตามมาได้





1.2 เด็กอายุ 1 เดือน - 5 ปี
  • ห้ามกวาดยาเด็กโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ช่องคอ เด็กอาจติดเชื้อและมีการอักเสบตามมาได้
  • ไปตรวจสุขภาพเมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 9 เดือน, 12 เดือน, ขวบครึ่ง, สองขวบ หลังจากนั้นนำเด็กไปตรวจสุขภาพทุกปีจนเด็กอายุ 5 ปี
  • โปรดระวังอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กของท่าน เช่น น้ำร้อนลวก ไฟใหม้ ไฟฟ้าดูด จมน้ำ กินสารพิษ อุบัติเหตุบนท้องถนน และอื่นๆ

2. หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ รีบนำเด็กไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

  • ซึม ซีด ไข้สูง ชัก ท้องอืด อาเจียน หายใจเร็ว หอบ หายใจลำบาก

3. การดูแลเด็กเป็นไข้หวัด

เด็ก 1-5 ปีจะเป็นหวัดบ่อย ปีละ 6-8 ครั้ง พ่อ-แม่ให้การดูแลเองที่บ้านได้ โดยให้กินน้ำบ่อยๆ รับประทานอาหารได้ตามปกติ ถ้าตัวร้อนจัด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ให้กินยาลดไข้ พาราเซตตามอลห่างกันทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้าไอมากให้ยาแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ) โรคหวัดจะมีอาการไข้ น้ำมูก ไอ ใน 2-3 วันแรก ต่อไปมีไอราว 1-3 สัปดาห์ ก็จะหาย
พ่อ-แม่ต้องคอยสังเกตุอาการ ถ้าไอมาก หายใจผิดปกติเช่น หายใจเร็ว หรือหอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง หรืออาการซึม ไม่ดูดนม อาจเป็นโรคปอดบวม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์

4. โรคอุจจาระร่วง

เกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการที่เรียกว่าโรคอุจจาระร่วงนั้นหมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือมูกปนเลือด แม้เพียงวันละ 1 ครั้ง เด็กเล็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงนี้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับอุจจาระจำนวนมาก จนอาจทำให้ช๊อคหมดสติและถึงแก่ความตาย

การดูแลรักษาขั้นต้นเมื่อเด็กป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงที่บ้าน

  1. ให้สารน้ำหรือ อาหารเหลวเพิ่มขึ้น ได้แก่
    - สารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือ โออาร์เอส ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว
    : เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดื่ม 50-100 ซี.ซี. (1/4 - ครึ่งแก้ว)
    : เด็กอายุ 2-10 ปี ดื่ม 100-200 ซี.ซี. (ครึ่งแก้ว - หนึ่งแก้ว )
    - อาหารเหลวที่ทำได้เองในบ้าน เช่น น้ำข้าว (ใส่เกลือ 2 หยิบมือ) น้ำแกงจืด โจ๊ก น้ำผลไม้ หรืออาจเตรียมน้ำสารละลายเกลือและน้ำตาล โดยผสมเกลือครึ่งช้อนชา น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะในน้ำต้มสุก 750 ซี.ซี. (ในขวดน้ำปลากลม)
  2. ไม่ต้องงดน้ำและอาหารในระหว่างท้องร่วง
    - ในเด็กที่ยังกินนมแม่ให้กินนมแม่ต่อไปไม่ต้องหยุด ในรายที่กินนมผสมให้กินน้อยลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่งสลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
  3. ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากมีอาการดังนี้
    - กระหายน้ำ อ่อนเพลียมาก ตาลึกโหล
    - มีไข้หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
    - กินอาหารหรือดืมน้ำไม่ได้
    - อาเจียนบ่อย
    - ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก
สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก กรมอนามัย

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม