วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทำไมต้อง เล่านิทาน-อ่านหนังสือ ให้ลูกฟัง

เป็นเรื่องที่พูดกันมานานโข เกี่ยวกับการเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ส่วนใหญ่ก็พูดกันแต่ว่าจะทำให้เด็กฉลาด เปิดโลกกว้าง และต่างๆ นานา แต่ก็ยังไม่มีใครพูดให้ชัดเจนในเชิงหลักวิชาการว่า ฉไนเลย การเล่านิทาน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น ทำให้เด็กฉลาดได้อย่างไร



นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมศักยภาพสมองของเด็กและเยาวชน และรองประธานฝ่ายพัฒนาวิชาการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด จะมาไขปริศนานี้ให้ฟัง
คุณหมออุดม อ้างผลงานการค้นคว้าของ อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เจ้าของโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2543 จากผลงานการค้นคว้าวิจัยเรื่องการเรียนรู้และความจำมนุษย์ ได้สรุปผลงานตัวเองออกมาด้วยข้อความสั้นๆ ว่า “การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ เรา เป็นดังเช่นทุกวันนี้”
ความหมายคือ ความรู้ ความจำ ที่เราได้เรียน ได้รู้ จากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวนั่นแหละคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนมีน้ำใจไมตรี หรือแม้แต่เป็นคนขี้โกง
นอกจากนี้ อีริค ได้อธิบายการเรียนรู้ของเราด้วยการทำงานของเซลล์สมอง ว่า ขณะที่คนเราอยู่ในท้องแม่ เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งก่อรูปเป็นก้อนสมอง อย่างที่เราเคยเห็นในหนังสือ หรืองานนิทรรศการต่างๆ แต่เซลล์สมองจะยังไม่ทำงานทันที จนกว่ามันจะงอกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นเครือข่ายเป็นวงจร เหมือนกับวงจรในเครื่องรับวิทยุ หรือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ตามบ้าน

ในช่วงแรก พันธุกรรมที่เราได้รับจากพ่อแม่จะเป็นตัวควบคุมให้เซลล์สมองเหล่านี้แตกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจรเป็นเครือข่าย เพื่อทำหน้าที่บางอย่างในการมีชีวิตอยู่ของเรา เช่น ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ควบคุมกาเต้นของหัวใจ ควบคุมการนอนหลับและตื่น ควบคุมให้ร้องเมื่อหิว หยุดร้องเมื่อกินอื่ม พันธุกรรมจะทำหน้าที่สั่งให้เซลล์สมองพัฒนาตัวเองให้ทำงานในหน้าที่เบื้องต้นเหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่ทำหน้าที่นี้แต่แรกเราก็จะไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้
แต่นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัมนาภาษา การสื่อสาร การพัมนานิสัยใจคอ การพัมนาความคิด เหตุผล อารมณ์ ความชอบ ความเกลียด ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลังโดยผ่านการเรียนรู้ทั้งสิ้น
โดยในการเล่านิทาน พ่อแม่จะต้องใช้น้ำเสียงในการเปล่งคำพูด ต้องมีการแสดงท่าทางประกอบ เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความหมายที่สื่อออกมา เซลล์สมองของเด็กก็จะบันทึกท่าทางที่แสดงออกถึงเจตนานั้น เช่น บ๊ายบาย นอนหลับ กินข้าว เป็นต้น ร่วมกับน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เก็บเอาไว้ในส่วนของความจำ
เมื่อท่าทางและคำพูดได้ถูกนำมาแสดงให้เห็นบ่อยๆ เด็กก็จะจดจำท่าทาง เสียงที่พูด รวมถึงความหมายของคำนั้นเป็นอย่างดี คราวต่อไปพ่อแม่เพียงแค่แสดงท่าทาง หรือเปล่งเสียง โดยไม่ต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน สมองส่วนความจำของเด็กก็จะระลึกได้ว่ามันคืออะไร และก็จะเข้าใจความหมายของคำนั้น หรือท่าทางนั้นๆ เอง

ส่วนเรื่องการอ่านหนังสือนั้น มีรายละเอียดไม่ต่างจากการเล่านิทานมากนัก เพียงแต่เรามีหนังสือภาพหรือนิทานมาประกอบด้วย อย่างเมื่อเวลาที่ พ่อแม่ชี้ไปที่ภาพ “ไก่” พร้อมกับพูดคำว่า “ไก่” ไปด้วยนั้น และชี้ไปที่คำว่า “ไก่” โดยอ่านให้เด็กฟังอย่างนี้บ่อยๆ สมองของเด็กก็จะบันทึกทั้งภาพ คำพูด และตัวอักษรไปพร้อมกัน ต่อไปเมื่อเด็กเห็นตัวไก่ ก็จะเรียกชื่อถูก เมื่อเจอตัวหนังสือก็จะอ่านออก
การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาษาที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก และภาษานี่แหละคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนเราเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกันเรื่อยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทำให้เราฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวงในโลกนี้
ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า เด็กที่มีความสามารถทางภาษาสูงจะมีความจำดีกว่าเด็กที่มีความสามารถทางภาษาต่ำ เนื่องจากเด็กจะสามารถเรียบเรียงข้อมูลความรู้ให้เป็นภาษาได้ดีกว่า เพราะเก็บเป็นความจำและเป็นระบบมากกว่า
นอกจากนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เราเล่าหรืออ่านให้เด็กฟังนั้น บางเรื่องราวสะท้อนให้เห็นที่มาของเหตุแลผลที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เด็กจะซึมซับและเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ไปเป็นแบบอย่างสำหรับชีวิต ของเขาเอง โดยเซลล์กระจกเงาที่อยู่ในมองจะทำหน้าที่อันนี้ ถ้าเราเลือกหนังสือดีๆ มาอ่านให้ลูกฟัง แน่นอนนิสัยดีๆ ย่อมเกิดแก่ลูกของเรา
ข้อสำคัญ การที่เราเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟังมันเป็นการแสดงออกว่าเรารักเขา เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่รักก็จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาศักยภาพและตัวตนของเด็กในอนาคต

เล่านิทานให้เด็กฟัง

มาเล่านิทานให้ลูกฟังกันนะคะ


นิทาน ภาพ เครื่องมือในการเลี้ยงลูก            นพ.อุดม เพ็ชรสังหาร นักจิตวิทยาเยาวชน กล่าวว่า การเล่านิทานให้เด็กฟังกับการอ่านหนังสือให้เด็กฟังแตกต่างกัน การเล่านิทานให้เด็กฟังไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเพราะสิ่งที่อยากให้เด็กคือให้เขาเกิดจินตนาการตามสิ่งที่พ่อแม่เล่า ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ไม่ต้องมีเครื่องมือ และที่สำคัญ การเล่านิทานก็เป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาอ่าน ส่วนนิทานภาพเป็นการช่วยเสริมเพื่อให้เด็กได้เห็นภาพ และเริ่มมีวิธีคิดจินตนาการ " หมอมีหูฟังเป็นเครื่องมือ พ่อแม่ก็ต้องมีหนังสือภาพเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงลูก" คุณหมอว่าอย่างนั้น

          สำหรับช่วงวัยของเด็กที่ควรได้รับการพัฒนานั้น ตามหลักวิชาสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ในท้องเพราะมีงานวิจัย ว่าเสียงตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง จะกระตุ้นให้เด็กเริ่มจำเสียงแม่ได้ ประสาทหูเริ่มทำงานตั้งแต่ 3 - 4 เดือน เพราะฉะนั้นตอนคลอดเด็กออกมาจะจำเสียงไม่ได้ " การได้ยินจึงเป็นตัวกลางสำคัญในการพัฒนาภาษา เพราะเด็กจะได้ยินเสียงและเลียนเสียงได้ถูกต้องอาจจะเป็นการร้องเพลงกล่อม หรือพูดคำว่า แม่รักลูกนะ แม่รักหนูจังเลย อย่าดิ้นสิลูก แม้เด็กอาจจะแปลไม่ได้ว่าหมายถึงอะไร แต่เขาจะรับรู้ถึงน้ำเสียงอยู่ในนั้น ตรงนี้เป็นการกระตุ้นประสาทการได้ยินพัฒนาขึ้นมาได้ หลังจากนั้นค่อยขยับมาเล่านิทาน การอ่านหนังสือให้เด็กฟังนั้น คุณหมอแน่ะนำ ว่าควรทำควบคู่กันไปเป็นการพัฒนาภาษาให้เด็ก" 


           ส่วนพ่อแม่ที่บอกว่าไม่มีเวลา คุณหมอ มองว่า อาจเป็นเพียงข้ออ้างมากกว่าแต่ " ต้องไม่ลืมว่า การทำมาหากินก็คือหน้าที่ การเลี้ยงลูกก็คือ หน้าที่ผู้ปกครองบางคนปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยการให้ลูกดูทีวีนั้นถ้าสิ่งนี้กอดลูกเราได้ก็ดี หากแต่เพราะบรรยากาศในการเล่านิทาน หรือการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตรงนั้น ไม่ใช่เพียงเสียงให้เข้าไปสัมผัสเด็ก ความรู้สึกได้รับจากเสียงที่พ่อแม่พูดคุยเวลาที่เขาเกิดปฎิสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอีคิว บุคลิกภาพของเด็ก สมมุติถ้าเป็นเทปให้เด็กฟัง แล้วเขาพัฒนาได้ครบถ้วนก็ไม่ต้องมีพ่อแม่ ที่สำคัญเด็กๆ ไม่ได้ต้องการแค่เล่านิทานสนุกๆ อย่างเดียว แต่เขาต้องการพ่อแม่ด้วย"


ส่วนใครหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นนิทานก่อนนอนด้วย งานนี้เรามีคำตอบจากคุณหมออุดมว่า " เป็นเวลาผ่อนคลายที่สุดไม่ต้องเร่งรีบจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้อ่านแล้วเคลิบเคลิ้มก็หลับไปทั้งพ่อแม่และลูกถ้าอ่านก่อนไปโรงเรียนเดี๋ยวต้องรีบกุลีกุจอกลางคืนเป็นเวลาที่ดีที่สุดก่อนที่ทุกคนจะเข้านอน" นั่นเอง

เมื่ออ่านถึงตรนี้แล้ว....
คืนต่อไปเราคงได้เห็นภาพคุณพ่อคุณแม่กอดลูกไว้ในอ้อมแขน
พร้อมเสียงอันอบอุ่นที่ดังว่า...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.............นะคะ

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมสนุกส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

 การสอนภาษาสำหรับเด็กเล็กให้เป็นเรื่องสนุกพร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ภาษานั้น ต้องทำกิจกรรมให้เป็นเรื่องท้าทายความสามารถของเด็ก และต้องไม่ยากเกินความสามารถที่เขาจะทำเองได้ แต่ก็ต้องมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ ที่สำคัญกิจกรรมต้องมีหลากหลาย เพื่อตอบสนองความแตกต่างของเด็ก ๆ

          1. เรื่องเล่าเช้านี้ (Morning Message) 
          เด็ก ๆ จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ฝึกการใช้ภาษาหาข้อมูล และที่สำคัญการสนทนาทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้การใช้ภาษาที่ถูกต้องจากคุณครูด้วย และควรสอนมารยาทในการเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดีให้เจ้าตัวน้อยทั้งหลายด้วย
          ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้สนทนากันตอนเช้าระหว่างคุณครูกับเด็ก และระหว่างกับเด็กด้วยกัน เพราะโดยธรรมชาติของเด็ก ๆ แล้ว มีเรื่องมากมายที่อยากจะเล่าให้คุณครูฟัง ดังนั้นเวลาในช่วงเช้าก่อนเริ่มต้นกิจกรรมอื่น ๆ เปิดเวทีสำหรับการพูดคุย โดยอาจจะเป็นหัวข้อใกล้ตัว เช่น ของที่เด็กๆ นำมา วันพิเศษ เหตุการณ์พิเศษในโรงเรียน เทศกาลต่างๆ หรือครูอาจจะกำหนดหัวข้อล่วงหน้ากับเด็ก ๆ ไว้ก่อน เพราะเขาจะได้มีเวลาหาข้อมูล อาจจะถามผู้ปกครอง หรือทดลองทำดู เพราะเวลาที่เด็ก ๆ เล่าเรื่องเขาจะกลายเป็นศาสตราจารย์ตัวน้อยผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่ตัวเองพูด
         เด็ก ๆ จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ฝึกการใช้ภาษาหาข้อมูล และที่สำคัญการสนทนาทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้การใช้ภาษาที่ถูกต้องจากคุณครูด้วย และควรสอนมารยาทในการเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดีให้เจ้าตัวน้อยทั้งหลายด้วย
          2. อยากจะอ่านดังดัง (Reading Aloud)
         คุณครูเลือกหนังสือภาพสำหรับเด็กดี ๆ ที่เด็ก ๆ สนใจสักเล่ม แล้วจัดเวลาสำหรับการอ่านออกเสียงให้เด็ก ๆ เป็นประจำ เพราะช่วงเวลานี้เด็ก ๆ จะมีความสุขและรู้สึกดีต่อการอ่าน รวมทั้งกับตัวครูด้วยจัดเด็กเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยก่อนที่จะอ่านเนื้อเรื่อง คุณครูควรแนะนำให้เด็ก ๆ รู้จักชื่อเรื่อง ผู้แต่ง ผู้แปล ผู้วาดภาพประกอบ และควรชี้นิ้วตามไปด้วยเวลาอ่าน หรืออาจจะถามคำถามให้เด็ก ๆ คิด หรือเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า
         หลังจากเล่านิทานจบแล้ว คุณครูควรจัดกิจกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวกับนิทานเรื่องที่เล่า เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนเนื้อเรื่อง และได้ทำกิจกรรมตามความสนใจ เช่นเตรียมภาพให้เด็กเรียงลำดับเรื่องราว หรือเตรียมสิ่งของที่มีอยู่ในนิทานเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เล่น ในกิจกรรมนี้เด็ก ๆ จะเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ และสามารถคาดคะเนได้อีกด้วย 
         3. หนูเล่าอีกครั้ง (Story Retelling)
         หลังจากที่นิทานเรื่องสนุกจบลงอย่างมีความสุข ลองให้เด็ก ๆ ได้เล่านิทานกลับมาให้คุณครูและเพื่อน ๆ ฟัง บ้าง แต่ก่อนที่จะให้เด็กเล่าคุณครูต้องใช้คำถามกระตุ้นให้เด็ก ๆ จับใจความสำคัญ และเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ ก่อน หรือเวลาที่ครูเล่าอาจจะถามคำถามให้เด็ก ๆ ได้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตนเอง ถามคำถามให้เด็ก ๆ เดาเรื่องล่วงหน้า ตีความ และพอเล่าจบก็ทบทวนเนื้อเรื่องอีกครั้งด้วยการทำแผนผังนิทาน กล่องนิทาน ภาพตัดต่อนิทาน เป็นต้น เด็ก ๆ จะเกิดแรงจูงใจในการเรียนและได้ลงมือทำในเรื่องที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว
         4. อ่านด้วยกันนะ  (Shared Reading)
         หนังสือภาพขนาดใหญ่หรือ Big Book จะเนรมิตความมหัศจรรย์ทางภาษาสำหรับเด็ก ๆ เพียงแค่คุณครูชวนเด็ก ๆ พูดคุยเรื่องที่จะนำมาเล่า เพื่อให้เจ้าตัวเล็กสนใจ และมีความรู้พื้นฐานก่อนฟัง จากนั้นจึงอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟังทั้งเรื่อง ชี้คำไปด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับตัวหนังสือ คำ ข้อความ เมื่อเด็ก ๆ เริ่มคุ้นเคยคุณครูก็ปิดข้อความ ปิดคำ แล้วให้เด็ก ๆ ทาย หรือทำบัตรคำให้เด็ก ๆ ไปหาคำนี้ในหนังสือก็ได้
         เด็ก ๆ จะเรียนรู้ว่าคำและข้อความไม่ใช่รูปภาพ และหลังจากอ่านจบก็ทำกิจกรรมสื่อภาษากันในห้องเช่น ทำหนังสือนิทาน แสดงละคร หรือเกมภาษาเช่น หาชื่อตัวละคร การพูดตามเครื่องหมายวรรคตอน เป็นต้น

คอมพิวเตอร์ : สื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัย

คอมพิวเตอร์ : สื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัย
เมื่อวงการศึกษาของเด็กปฐมวัย กำลังตื่นตัวในการจัดการศึกษา เพื่อรองรับโลกยุคข่าวสารไร้พรมแดน การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย จึงเป็นประเด็นที่พูดกันว่า มีความเหมาะสมอย่างไร เด็กมีความพร้อมทางด้านร่างกาย และสติปัญญาเพียงพอที่จะใช้คอมพิวเตอร์หรือยัง ดังนั้นเพื่อเป็น     ข้อมูลสำหรับพิจารณาว่า สื่อคอมพิวเตอร์นั้นจะเป็นสื่อที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเด็กปฐมวัยจริงหรือ เรามาศึกษาและเรียนรู้แนวความคิดที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กๆ ปฐมวัยกันค่ะ
การใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กปฐมวัย
         เด็กจะเรียนรู้กิจกรรมจากคอมพิวเตอร์ในเรื่องเกี่ยวกับสัญลักษณ์ เพราะในชีวิตประจำวันเด็กก็ใช้สัญลักษณ์จากการสื่อสารด้วยท่าทาง ภาษาในการเล่น และงานศิลปะอยู่แล้ว จึงเห็นว่า เด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์ด้วย แต่ยังมีผู้วิตกว่า แนวคิดนี้เป็นการเร่งรัดเด็กหรือไม่ คำตอบประการหนึ่งคือ การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นอันตรายเลย แต่เราก็ควรใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับเด็กตามระดับความสามารถของเขาเป็นสำคัญ
การเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์
         ถ้าเด็กเล่นคอมพิวเตอร์ด้วยความรู้สึกสบายใจ มีความเชื่อมั่น และสนุกกับการเล่นแล้ว เด็กจะพัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการมี      ผู้ใหญ่คอยดูแล สนับสนุน ให้กำลังใจ และรู้จักเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมให้เด็ก
         นอกจากนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ควรให้เด็กมีโอกาสเลือกเล่นกิจกรรมได้อย่างเสรี โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นมุมหนึ่งของห้องเรียนเช่นเดียวกับมุมไม้บล็อก มุมหนังสือ มุมศิลปะ มุมบ้าน มุมบทบาทสมมติ ฯลฯ จะเอื้อประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ได้ดีกว่าการจัดให้เด็กแยกไปเรียนต่างหาก การจัดมุมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาการทางสังคม เพราะเด็กอาจจะนั่งหน้าจอด้วยกัน พูดคุย ช่วยกันแก้ปัญหา ร่วมกันตัดสินใจ ลองผิดลองถูก อีกทั้งเป็นการพัฒนาสติปัญญาและภาษาได้อย่างดี
การพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ และจิตใจ
         จากการวิจัยพบว่า เด็กอายุ 4 ขวบ สามารถช่วยอธิบายวิธีการแก้ปัญหาให้เพื่อนได้ และสามารถสาธิตให้เพื่อนดูได้ถูกต้อง และจากการสังเกตพบว่า เด็กได้เลียนแบบวิธีการสอนของครูมาช่วยเหลือเพื่อน ดังนั้นครูควรต้องระวังบทบาทขณะสอนเด็กๆ ให้เหมาะสมด้วย
         คอมพิวเตอร์จะช่วยพัฒนาเด็กได้มากในเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารและการเรียนรู้ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นครูอาจช่วยกระตุ้นการทำงานร่วมกัน โดยจัดให้เด็กนั่งเป็นคู่หน้าเครื่อง และชักจูงให้ช่วยกันคิดในการทำงาน โดยไม่ใช่แข่งขันกัน
การพัฒนาด้านทักษะภาษา
         ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการฝึกการท่องจำสำหรับเด็กปฐมวัย จะช่วยเตรียมทักษะการอ่าน เพราะทำให้เด็กจำแนกตัวอักษร จำตัวอักษร และเรียกได้ถูกต้อง ทำให้รู้คำศัพท์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โปรแกรมสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นได้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ควรให้เด็กได้รับการฝึกแต่ความจำเท่านั้น ผู้ใหญ่ควรเลือกโปรแกรมที่ใช้การสื่อสารสองทางได้ คือ คอมพิวเตอร์พูดได้ สามารถตอบสนองเด็กได้ ร้องเพลงได้ จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น
         นอกจากจะมีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยเตรียมทักษะด้านการอ่านแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ช่วยในเรื่องภาษาเขียนของเด็กด้วย ซึ่งโดยปกติภาษาเขียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ไม่จูงใจในการสื่อสารสำหรับเด็ก แต่ในปัจจุบันนี้มีโปรแกรม Word Processor ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้การสื่อสารสองทาง เด็กจึงเรียนรู้ที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง ภาษาเขียนของเด็กจึงได้พัฒนาตั้งแต่เริ่มรู้วิธีเขียนที่ถูกต้อง จนถึงขั้น      สื่อสารได้ จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการเขียน ลดปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่แข็งแรง และลดความกังวลใจว่าจะเขียนผิด ถ้าครู คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
การพัฒนาด้านคณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหา
         เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้ทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับการจำแนกแยกแยะสี รูปทรง ตัวเลข ตลอดจนรู้จักการเรียงลำดับ มิติสัมพันธ์ โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกระตุ้นได้ดี
         โปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เป็นโปรแกรมเกี่ยวกับความจำที่เน้นถูก–ผิด เป็นหลักเท่านั้น แต่ควรเป็นโปรแกรมที่ท้าทายในการแก้ปัญหา โดยให้เด็กสามารถสร้างทางเลือก ตัดสินใจ ที่จะหาวิธีในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความคิด บทบาทของครูสำหรับเด็ก คือ ครูจะต้องกระตือรือร้นที่จะสนุบสนุนป้อนคำถาม กระตุ้น และสาธิตให้เด็กเกิดความคิด

ข้อควรคำนึงในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับเด็กปฐมวัย
         1) โปรแกรมจะต้องเหมาะสมสำหรับเด็ก การนำโปรแกรมที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาใช้กับเด็ก เพื่อให้เป็นเด็กอัศจรรย์ (Super Kid) เป็นการสร้างควากดดันให้กับเด็กมากกว่าจะเป็นการเสริมสร้างสติปัญญา
         2) ควบคุมเวลาในการใช้ เพราะเด็กอาจจะเพลิดเพลิน และถ้าเด็กอยู่ใกล้เกินไปจะเสียสายตา จนถึงขั้นตาเสื่อมได้
         3) ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การเล่นคอมพิวเตอร์ ควรใช้จอของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรงจะดีกว่าการเล่นกับจอทีวี เพราะจอคอมพิวเตอร์เป็นจอที่ละเอียดกว่า และมีการกรองแสงด้วย ซึ่งช่วยถนอมสายตาเด็กได้
         4) ควรสอนเด็กให้รู้จักวิธีการเปิด–ปิดเครื่องและวิธีการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และรู้จักการถนอมเครื่องด้วย
         การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประเด็นสำคัญอยู่ที่คุณครู คุณพ่อคุณแม่  ผู้ปกครอง ต้องมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบคอบ มีความพร้อมทั้งในแง่ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการสอน และผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก และควรตระหนักว่า คอมพิวเตอร์เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ไม่ใช่เร่งรัดให้เด็กประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนเกินวัย และไม่ควรนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพียงเพื่อเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพราะจะทำให้เด็กในวัยเรียนสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม