วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมทางดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย

  สำหรับเด็กปฐมวัยแล้วการจัดกิจกรรมดนตรีให้เด็กไม่ใช่เพื่อให้เด็กเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ
จุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กมีความรักในดนตรี มีพื้นฐานทางดนตรี ดนตรีที่นำมาจัดกิจกรรมให้เด็กมีดังนี้
           - การร้องเพลง รวมถึงการพูดคำคล้องจอง  การร้องเพลงมีทั้งให้เด็กร้องเดี่ยว   ร้องเป็นกลุ่ม
โดยเน้นที่น้ำเสียงของการร้องเพลง ไม่ใช่การตะโกน เพลงที่นำมาสอนต้องเป็นเพลงที่ง่ายๆ   ทั้งเนื้อ
ร้อง จังหวะ  เป็นเพลงร้องที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน
           - การฟังเพลง ควรให้เด็กได้ฟังเพลงทุกประเภท  เพื่อปูพื้นฐานทักษะการฟังให้กับเด็กตั้งแต่
เล็กๆ  เด็กจะได้คุ้นเคยกับเสียงดนตรี ทั้งเสียงสูง  ต่ำ  กลาง   เพลงที่มีเนื้อร้อง และเพลงบรรเลง
           - การเคลื่อนไหว   การเคลื่อนไหวเป็นการตอบสนองทางดนตรีของเด็ก เด็กได้ลงมือกระทำ
ในตอนแรกเป็นการเคลื่อนไหวง่ายๆ  ให้เด็กได้สนุกกับการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ  เป็นเพลงที่
มีเนื้อร้องหรือบรรเลง ก็ได้
           - การเล่น ควรให้เด็กเล่นเครื่องเล่นประกอบจังหวะที่มีเสียงระดับต่างๆ   และที่ไม่มีระดับเสียง
เช่น  ระนาด  กลอง  รำมะนา  ฉิ่ง  ฉาบ เป็นต้น หรือใช้เครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ใช้เอง
           - การอ่าน  ควรให้เด็กได้ใช้สัญลักษณ์ที่ง่ายไม่จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์ทางดนตรี
           - ความคิดสร้างสรรค์  ความรู้สึกจากการฟังดนตรีเป็นการสร้างสรรค์ที่ควรจัดประสบการณ์ให้
กับเด็กทั้งการร้อง  การเคลื่อนไหว  การเล่น เป็นต้น

           การจัดกิจกรรมทางดนตรีให้กับเด็กจึงมีความสำคัญและจำเป็นมากสำหรับเด็ก

คุณค่าดนตรีต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย

 ได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของนักศึกษาสาขาวิชาดนตรีศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจวบกับที่บรรณาธิการจุลสารเพื่อนอนุบาลบอกว่า ฉบับที่ 5 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรี จึงขอถือโอกาสนำข้อเขียนนี้มาแบ่งปันท่านผู้อ่าน
          ผลจากคุณค่าของเสียงดนตรีที่มีต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจของเด็ก นักจิตวิทยาสังคมต่างให้การยอมรับและได้กล่าวถึงคุณค่าของดนตรีไว้ว่า
         1. ดนตรีก่อให้เกิดความสว่างแก่จิตใจ ( Enlightenment)
         2. ดนตรีก่อให้เกิดความสุข ( Well - Being)
         3. ดนตรีก่อให้เกิดความผูกพันรักใคร่ ( Affection)
 
         ดนตรีเป็นศาสตร์ หรือวิชาที่ทำให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้  ความจำ สังคม  ค่านิยม การคิดหาเหตุผล การสร้างสรรค์ การพัฒนากล้ามเนื้อ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  การพัฒนาตนเองให้เข้ากับกลุ่ม หรือสภาพแวดล้อมของสังคมต่าง ๆ ดนตรีจึงน่าจะเป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่ทำให้เด็กสนุกสนานรื่นเริงอย่างเต็มที่  ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย ความคิด ทางจิตใจ อารมณ์ และนอกจากนี้ ดนตรียังสามารถนำไปสัมพันธ์ เชื่อมโยงหรือบูรณาการ กับวิชาการ องค์ความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ  ประการสำคัญดนตรีเป็นตัวจักรที่ใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย ดังนี้ 
         ดนตรีช่วยเสริมสร้างพัฒนาด้านสุขภาพและพลานามัยของเด็กปฐมวัย
         การเล่นเครื่องดนตรีหรือการร้องเพลงของเด็กนั้น น่าจะไม่เพียงแต่นั่งร้องหรือขับร้องเท่านั้น แต่เด็กทุกคนชอบ และพอใจที่จะทำท่าทางประกอบไปด้วย เนื่องจากเด็กในระดับปฐมวัยชอบเปลี่ยนอิริยาบทชอบการเคลื่อนไหว กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะท่วงทำนองของเพลง ดังนั้น เพลงและดนตรีจึงสามารถใช้เป็นสิ่งเร้าเพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหว ทั้งการเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ การเคลื่อน ไหวแบบเคลื่อนที่ การเคลื่อนไหวเพื่อดนตรี การเคลื่อนไหวเพื่อนาฏศิลป์หรือการเต้นรำ รวมทั้งพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก แขน ขา ลำตัว นิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายตามจังหวะ
         ดนตรี จะเป็นการช่วยพัฒนาให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและพลานามัยที่สมบูรณ์ อันจะเป็นผลเกี่ยวโยงไปสู่จุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่มุ่งให้เด็กพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจสังคม สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กปฐมวัยปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข 
         ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ - จิตใจของเด็กปฐมวัย
         เพลงและดนตรีช่วยพัฒนาอารมณ์ของเด็กในแง่การให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน สดชื่น ร่าเริง ในวัยนี้เด็กยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง อาจทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งหรือสับสน จึงทำให้เด็กมีปัญหาในด้านอารมณ์และจิตใจ    ดนตรีจะสามารถช่วยบรรเทาหรือปรับอารมณ์เด็กได้อย่างดี ดนตรีสามารถช่วยให้เด็กได้แสดงออกตามความต้องการความรู้สึกและความสามารถ ช่วยถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของเด็ก ช่วยให้เด็กผ่อนคลายความเครียด ดังจะเห็นได้จากการสังเกต   เวลาเด็กร้องเพลง เล่นกัน เด็กจะมีหน้าตายิ้มแย้ม เบิกบาน แม้เด็กบางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิด แต่เมื่อได้ร้องรำทำเพลงหรือได้ฟังเพลงสักครู่ก็จะค่อยคลายความไม่สบายใจลง เพราะความไพเราะของเพลง ลีลาและท่วงทำนองเพลงจะช่วยกล่อมอารมณ์ของเด็กให้เพลิดเพลินเป็นปกติได้อย่างดี นอกจากนี้แล้ว ดนตรียังพัฒนาอารมณ์ของเด็ก เกิดความบันเทิงใจ เพลิดเพลิน เกิดจินตนาการกว้างไกล อารมณ์เยือกเย็น สุขุม รักสวยรักงาม เห็นคุณค่าของดนตรี รักในเสียงเพลง เสียงดนตรี จากการสัมผัสดนตรีอยู่ในโลกของดนตรี ไม่เกิดความเหงา เห็นเสียงเพลง เสียงดนตรีเป็นเพื่อน เด็กจะเกิดความนุ่มนวลอ่อนโยนขึ้น ไม่แข็งกระด้าง ไม่เห็นแก่ตัว มีอารมณ์สุนทรีย์ละเอียดอ่อน การพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กจะได้รับการกล่อมเกลาไปทีละเล็กละน้อย จนมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม อันเป็นผลพวงจากดนตรีนั่นเอง ....

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553


ในทางชีววิทยา ความก้าวร้าวอาจถือได้ว่า 
เป็นสัญชาต ญาณชนิดหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ซึ่งช่วยในการอยู่รอดทำนองเดียวกับความง่วง ความหิว มีทั้งความก้าวร้าวที่เป็นการตอบสนองจากสิ่งกระตุ้นภายนอกที่ถูกแปลว่า อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง ต่อคนหรือสิ่งที่ตนรักผูกพัน หรือรู้สึกเป็นเจ้าของ อย่างในสุนัขหรือสัตว์ผู้ล่าต่าง ๆ
อาจเป็นอาณาเขตทำมาหากิน หรือมาจากภาวะอารมณ์ ความคิด หรือการทำงานที่ไม่ปกติ หรือบกพร่องของสมองภายในของสิ่งมีชีวิตนั้นเองก็ได้
แต่การที่เราเชื่อว่า ความเป็นมนุษย์จะสูงส่งเหนือสัตว์ทั้งหลายเนื่องจากการรู้จักคิดอ่าน ทำให้มนุษย์มองความก้าวร้าวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเหลือเชื่ออยู่เลย เชื่อว่า
ความคิดระดับมนุษย์สามารถยับยั้งหรือได้ทำลายความก้าวร้าวหมดไปจากสายพันธุ์แล้ว คล้ายกับเชื่อว่า รถดีจะไม่ปล่อยไอเสีย หากเรานำ 2 แนวคิดนี้มาผสมผสานกันและนำมาพิจารณาพฤติกรรม หรืออารมณ์ของเด็ก ของคนรอบข้าง หรือแม้แต่กับของตนเอง อาจทำให้เราได้   เข้าใจพิเคราะห์ ความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หลากหลายขึ้น

เด็กไม่ใช่ผ้าขาวแบบ เกิดมาไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เพราะอย่างน้อยการเป็นผ้าขาวก็เกิดจากการถักทอใยผ้า มาก มาย แน่นอน เขามีสัญชาตญาณต่าง ๆ ที่สืบทอดมาหลายหมื่นหลายแสนปีติดมา และร่วมกับ กรรมพันธุ์ของพ่อแม่วงศาคณาญาติก็รวมอยู่ในเส้นใยที่ว่าขาวเหล่านั้นด้วย
คงสังเกตได้ว่า พ่อหรือแม่ที่ก้าวร้าวมีโอกาสที่ลูกไม้จะหล่น กลิ้ง อยู่แค่ใต้ต้นมากกว่าพ่อแม่ที่สงบ ๆ นิ่ง ๆ สิ่งเหล่านี้อาจเห็นได้ตั้งแต่เป็นเด็ก โดยที่อาจยังไม่ได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่เลยก็ได้
ความก้าวร้าวเริ่มต้นของเด็กแรกเกิดอาจเป็นการแสดงการโกรธ หงุดหงิด ร้องไห้ เมื่อหิว เมื่อหนาวร้อน เมื่อเปียกเปื้อน เมื่อโตขึ้นอีกนิด ความก้าวร้าวอาจเห็นได้ไม่ใช่แค่เพื่อเอาชีวิตรอด แต่เกิดเมื่อไม่พอใจ ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งชนิดของเรื่องราวที่มากระตุ้นและดีกรีของความก้าวร้าวจะต่างกันไปตามอายุของเด็ก เช่นเด็กเล็กการห้ามเอาของใส่ปาก ห้ามเดินไปใกล้บันได ก็น่าขัดใจแล้วในขณะที่เด็กโตหรือวัยรุ่น อาจเป็นเรื่องอยากได้มือถือ อยากเล่นเกม อยากไปไหนกับเพื่อน ซึ่งจะดูซับซ้อนมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ขัดใจ ขัดอิสรภาพ แต่มีเรื่องของหน้าตาในสังคมมาแจมด้วย
เด็กบางคนที่ก้าวร้าวได้ง่าย รุนแรงหรือบ่อยกว่าคนอื่น อาจมีเหตุมาจากภายนอกคือ การได้เห็น หรือเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่าง ๆ มา ซึ่งอาจจะมาจากทั้งในบ้าน ในโรงเรียน
(อาจเป็นระดับเพื่อนแกล้งกัน ไม่ว่าถูกลงมือลงไม้ ถูกไถเงิน ข่มขู่ให้ทำเรื่องต่าง ๆ หรือกีดกันรังเกียจไม่ให้คบเข้ากลุ่ม หรือระดับนานาชาติ แบบยกโรงเรียนตีกันเป็นประเพณี) หรือจากสื่อต่าง ๆ ที่มักอ้างว่าเรื่องจริงต้องสื่อให้อ่าน หรือเห็นสะใจ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แบบคนมายิงจ่อหัวกัน รุมตีกระทืบกัน หรือรูปอาชญากรรม แย่งแฟน เลือดสาดหัวขาด ซึ่งไม่ควรเสนอฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือลงภาพตีพิมพ์
 
เด็กอีกพวกอาจก้าวร้าวง่ายจากเหตุภายในเอง เช่นมีโรคไม่สบายเรื้อรัง ต้องกินยาหลายตัว ที่ทำให้พฤติกรรมรุนแรงขึ้นโดยตรง หรือถูกห้ามทำกิจกรรมต่าง ๆ จนไม่เหมือนเพื่อนเพราะกลัวป่วยมากขึ้น อย่างหอบหืด ไซนัส ลมชัก โรคทางสมองหรือโรคของต่อมไทรอยด์ ก็อาจเป็นเหตุของความก้าวร้าวได้ อย่างโรคพัฒนาการล่าช้าชนิดต่าง ๆ โรคชัก สมองอักเสบ เป็นต้น

พฤติกรรมเด็กก้าวร้าว

"เด็กก้าวร้าว" พฤติกรรมตามวัยจริงหรือ?

       การแสดงความก้าวร้าวของเด็กเล็กอาจเกิดขึ้นได้ เช่น พูดจาหยาบคาย ต่อว่า ไม่เคารพผู้อื่น ทุบตี หยิก กัด ผลัก ขว้างปา ทำลายสิ่งของหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทารุณกรรมสิ่งมีชีวิตให้บาดเจ็บหรือล้มตาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการฝึกเด็กให้ละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหาย ทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือทำให้ผู้อื่นกระทบกระเทือนจิตใจ 
       
       ทั้งนี้ ความก้าวร้าว อาละวาดง่ายในเด็กอายุ 2 - 5 ปีอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นเพทางอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย ซึ่งสาเหตุของความก้าวร้าวอาจมาจาก
       
       1. สาเหตุทางชีวภาพ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น พ่อแม่มีอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง หรือถ้าพบว่าเด็กแสดงออกอย่างก้าวร้าวมาก ๆ และเป็นบ่อย ๆ ควรคำนึงถึงโรคใดโรคหนึ่ง เช่น สมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ออทิสติก หรือสมองพิการ
       
       2. สภาพจิตใจของเด็ก เด็กไม่มีความสุข เศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย เด็กที่คับข้องใจบ่อย ๆ และถูกกดดันเสมอ ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กหงุดหงิดและอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวได้
       
       3. การเลี้ยงดูภายในครอบครัว
       - การทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแลเด็ก
       - การลงโทษรุนแรง
       - การตามใจและยอมตามเด็กเสมอ
       - การทะเลาะกันภายในครอบครัว
       - การยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโกรธ
       - การขาดระเบียบวินัยในชีวิต
       - การที่เด็กทำผิดแล้วผู้ใหญ่ให้ท้าย
       - การสื่อความหมายไม่ชัดเจน ทำให้เด็กสับสน กังวล ไม่รู้จักความผิดที่แน่นอน
       
       4. จากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม เด็กที่ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรง ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อคลายเครียด เมื่อถูกเร้าให้เกิดความเครียดส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ได้ง่าย
       
       นอกจากนี้ข่าวสารต่าง ๆ ปัญหาความเครียดในสังคม ท่าที ทัศนคติของเพื่อน คุณครู ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดความเครียดหรือเป็นแบบอย่างของความก้าวร้าวได้ทั้งสิ้น และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ตลอดจนผู้เลี้ยงดูในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้
       
       วิธีป้องกันและแก้ไข
       
       1. ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว เช่น หากเด็กมีการขว้างปาสิ่งของ หรือทุบตีผู้อื่น อาจจัดการให้เด็กหยุดด้วยวิธีสงบ เช่น จับมือรวบตัวเอาไว้ บอกสั้น ๆ ว่าตีไม่ได้ และของชิ้นนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปา ในขณะเดียวกัน การพูดว่า "แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่เราไม่อนุญาตให้ตีกัน และแม่ก็ไม่อนุญาตให้น้องทำกับหนูเช่นกัน" จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกโกรธ และหยุดยั้งการกระทำของเด็กได้ในเวลาเดียวกัน
       
       2. แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก เช่น เมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่า การก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ วิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะพบว่าเด็กมีอาการอีกเป็นครั้งคราวเพราะเด็กยังระงับอารมณ์ได้ไม่หมด
       
       3. ไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น
       
       4. ผู้ใหญ่ต้องระวังที่จะไม่มีอารมณ์ตอบโต้เด็ก หรือเอาชนะกัน
       
       5. การลงโทษเด็กไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่ง (Time Out : 1 นาทีต่อเด็กอายุ 1 ปี) โดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ บางครั้งอาจใช้วิธีงดสิทธิบางอย่างเข้าช่วยด้วย
       
       6. ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง เช่น ซ่อมแซมของที่ชำรุดเสียหาย (โดยพิจารณาตามความเหมาะสมค่ะ)
       
       7. หลีกเลี่ยงการตำหนิ ต่อว่า เปรียบเทียบ ให้เด็กรู้สึกเป็นปมด้อย การขู่หรือหลอกให้กลัว ตลอดจนการยั่วยุให้โกรธ โดยผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดอง เป็นมิตรต่อกันให้เด็กเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม