วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวทางพัฒนาเด็กLD

ลักษณะเด็กLD

LD คืออะไร

จะทราบได้อย่างไรว่า เด็กคนไหนเป็น LD
รักษาได้หรือไม
LD หรือ Learning Disabilities หมายถึง ความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ แสดงออกมาในรูปของปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ รศ. พญ. ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมองครีเอทีฟเบรน กล่าวว่า เด็ก LD หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กที่มีวงจรการทำงานของสมองไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นเซลล์สมองบางส่วนอยู่ผิดที่ ทำให้มีปัญหาในการเรียน เรียนอ่อนบางวิชา หรือหลายๆ วิชา ทั้งที่สติปัญญาปกติ
บางคนมีปัญหาในการอ่านทั้งที่มีสายตาหรือประสาทตาปกติ แต่การแปลภาพในสมองไม่เหมือนคนทั่วไป ทำให้เห็นตัวหนังสือกลับหัวกลับหาง ลอยไป ลอยมา ไม่คงที่ บางครั้งเห็นๆ หยุดๆ มองเห็นตัวหนังสือหายไปเป็นบรรทัด บางครั้งเห็นตัวหนังสือแต่ไม่รู้ความหมาย
บางคนมีปัญหาการฟัง ทั้งที่การได้ยินปกติ แต่สมองไม่สามารถแยกแยะเสียงสูง- ต่ำ จึงมักเขียนสะกดผิด และไม่ทราบความหมายของคำ
บางคนมีปัญหาเรื่องทิศทาง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษา ไม่รู้ว่าซ้ายหรือขวา กะระยะทางไม่ถูก ทำให้เดินชนอยู่บ่อยๆ
บางคนคำนวณไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจสัญลักษณ์ตัวเลข ฯ
จากการวิจัยในประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีเด็กไทย โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 กว่า 700,000 คน มีความบกพร่องทางการ เรียนรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามวัย ทั้งที่มีระดับสติปัญญา (IQ) ปกติ
หรือสูงกว่าปกติได้ในบางคน ซึ่งเป็นอาการของเด็ก LD

สาเหตุของเด็ก LD
ศ. ดร. ผดุง อารยะวิญญู อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ประการแรก คือ กรรมพันธุ์ เด็กบางคนอาจมีญาติผู้ใหญ่ที่ เป็น LD แต่สังคมในสมัยก่อนยังไม่รู้จัก LD ประการที่สอง การที่เด็กคลอดก่อนกำหนด ทำให้เซลล์สมองผิด ปกติ และสุดท้ายคือ สารเคมีเข้าสู่ร่างกายและสะสมในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารตะกั่วซึ่งมาจากอากาศและอาหารที่ปนเปื้อนสารเหล่านี้
นอกจากนี้ โรค LD ยังอาจมีสาเหตุมาจากเคยมีโรคติดเชื้อหรืออุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง เป็นโรคลมชัก โรค LD มักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น โรคกระตุก (Tic Disorders) และกลุ่มที่มีความล่าช้าในภาษาและการพูด โดยเฉพาะกับโรคสมาธิสั้น พบว่าเป็นร่วมกันถึง 30-40% คือในเด็กที่เป็น LD หรือสมาธิสั้น 10 คน จะมี 4 คน ที่จะเป็นทั้งสมาธิสั้นและ LD

อาการและพฤติกรรมของเด็ก LD
อาการของเด็ก LDจะมีมาตั้งแต่กำเนิด ทั้งที่มี IQ และร่างกายทุกส่วนปกติ และจะปรากฎชัดเมื่อเข้าเรียน คือ เบื่อการอ่าน อ่านหนังสือตะกุกตะกักไม่สมกับวัย เมื่อพ่อแม่ ครู ให้อ่านหรือทำการบ้าน ก็จะไม่ยอมอ่าน ทำให้สอบตก ถึงขั้นต้องเรียนซ้ำชั้น โดยวิชาที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ คณิตศาสตร์ เนื่องจากอ่านไม่ออก จับความไม่ได้ ตีความโจทย์ไม่เป็น ทั้งที่เมื่ออ่านให้ฟังก็สามารถตอบได้ถูก
อาการของ LD อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. มีปัญหาในการอ่านหนังสือ (Dyslexia) อาจจะอ่านไม่ออก หรืออ่านได้บ้าง แต่สะกดคำไม่ถูก ผสมคำไม่ได้ สลับตัวพยัญชนะ สับสนกับการผันสระc]t วรรณยุกต์ บางทีสนใจแต่การสะกดคำ ทำให้อ่านแล้วจับความไม่ได้
2.มีปัญหาในการเขียนหนังสือ (Dysgraphia) ทั้งๆที่รู้ว่าจะเขียนอะไร แต่ก็เขียนไม่ได้ หรือเขียนได้ช้า เขียนตกหล่น เขียนพยัญชนะสลับกัน หรือคำเดียวกันแต่เขียนสองครั้งไม่เหมือนกัน บางคนเขียนแบบสลับซ้ายขวาเหมือนส่องกระจก ลายมือโย้เย้ ขนาดของตัวอักษรไม่เท่ากัน ขึ้นลงไม่ตรงบรรทัด ไม่เว้นช่องไฟ อาจจะเกิดจากมือและสายตาทำงานไม่ประสานกัน หรือการรับภาพของสมองไม่เหมือนคนอื่นๆ
3. มีปัญหาในการคำนวณ (Dyscalculia) อาจจะคำนวณไม่ได้เลย หรือทำได้แต่สับสนกับตัวเลข ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข บางคนสับสนตั้งแต่การจำเครื่องหมายบวก ลบ คูณ หาร ไม่สามารถจับหลักการได้ เช่น หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อยต่างกันอย่างไร บางคนบวกลบเป็น เข้าใจเครื่องหมาย แต่ตีโจทย์คณิตศาสตร์ไม่ได้ เช่น ถามว่า 2+2 เท่ากับเท่าไร ตอบได้ แต่ถ้าบอกว่ามีส้มอยู่ 2 ลูก ป้าให้มาอีก 2 ลูก รวมเป็นกี่ลูก เด็กกลุ่มนี้จะตอบไม่ได้

จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กคนไหนเป็น LD
แม้เด็ก LD จะไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนในเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ แต่ก็สามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้มือไม่เก่ง งุ่มง่าม ซุกซน พูดช้า การทรงตัวไม่ดี สับสนทิศทาง สับสนซ้ายขวา หรือเด็กที่อายุเกินชั้นป. 1 แล้วยังพูดไม่ชัด มีปัญหาเรื่องของการใช้ภาษา พูด อธิบายหรือเล่าอะไรไม่ได้ ประโยคไม่ปะติดปะต่อ ก็อาจจะมี LD ร่วมด้วย และเมื่อถึงวัยประถมศึกษาที่ต้องแสดงความสามารถทางการเรียนแยกย่อยรายวิชา อาการของโรค ก็จะแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้น
นอกจากนี้ ครู ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ว่า เด็กมีอาการของโรค LD หรือไม่ ด้วยการดูจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กที่มักจะไม่มีระเบียบในชีวิต ขี้ลืม หาของไม่ค่อยเจอทั้งที่อยู่ใกล้ตัว เด็ก LD จะไม่ค่อยสนใจอ่าน เขียน และทำการบ้าน มีลายมือสูงๆ ต่ำๆ ผอมๆ อ้วนๆ ปะปนกันในหนึ่งบรรทัด เขียนไม่เป็นระบบ ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่รอบคอบ ผิดๆ ถูกๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกเป็น LD สามารถพาลูกไปรับการทดสอบและรับการช่วยเหลือได้ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) และโรงพยาบาลที่มีเครื่องทดสอบ เช่น โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น
 
จะช่วยเหลือเด็ก LD ได้อย่างไร
LD ถือเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้เด็ดขาด แต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ การฝึกฝนอาจจะทำให้ทักษะการอ่าน เขียน หรือคำนวณพัฒนาขึ้นมาได้บ้างเป็นบางส่วน แต่โดยธรรมชาติ วิธีการเรียนรู้ของเด็ก LD จะแตกต่างจากเด็กอื่นๆ เทคนิคที่ใช้จึงแตกต่างกันไป
ผู้ปกครองและครูจะต้องมีความเข้าใจถึงความแตกต่างและข้อจำกัดของเด็ก ต้องสอนเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ อาจแยกวิชาที่เด็กอ่อน เช่น อ่อนการสะกดคำ ก็แยกมาสอนเฉพาะเพื่อพัฒนาส่วนนั้น รวมทั้งช่วยฝึกฝนประสาทตาและมือให้เด็ก เพราะสองส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญในการใช้อ่านและเขียน
เมื่อสงสัยว่า เด็กเป็น LD ซึ่งถือว่าเป็นความพิการชนิดหนึ่งที่เด็กจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และการศึกษาตามกฎหมาย ครูมีสิทธิที่จะส่งเด็กไปพบแพทย์ เมื่อตรวจพบ แพทย์จะเป็นผู้ออกใบรับรองเพื่อให้เด็กได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งทั้งพ่อแม่ ครู และแพทย์ต้องทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือเด็ก
ขั้นตอนต่อไปทางการศึกษานั้นคือ ครูจะต้องจัดทำแผนการเรียนเฉพาะบุคคล (IEP - Individualized
Educational Program) สำหรับเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รับการแก้ไขความบกพร่องในการเรียนรู้ได้ตรงเป้าหมายยิ่ง ขึ้น นอกจากนี้ ครูอาจจะปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการฟัง การเห็น การลงมือปฏิบัติมากกว่าจะเน้นการอ่าน หรือมีสื่อการศึกษาประเภทต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น เทปเสียง วิดีโอ คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ต่อไป

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

วิธีบำบัดเด็กสมาธิสั้น

วิธีบำบัดเด็กสมาธิสั้น


วิธีบำบัดเด็กสมาธิสั้น (เดลินิวส์)


          เด็กคนไหนที่รู้ตัวว่าเป็นคนสมาธิสั้น วันนี้เดลินิวส์ออนไลน์มีวิธีบำบัดมาบอก…

          1. อย่าเปิดทีวี ให้มีเสียงดังจนเกินไป หรือสภาพแวดล้อมในบ้านต้องไม่วุ่นวายหรือมีการทะเลาะกันบ่อยครั้ง

          2. หามุมสงบสำหรับเด็ก เพื่อให้เกิดสมาธิในการทำการบ้าน

          3. ฝึกฝนวินัยให้เด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยละเลยหรือตามใจจนทำให้เด็กติดเกม

          4. มีการสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน หากไม่แน่ใจให้เด็กทบทวนว่าสิ่งที่สั่งสอนไปคืออะไรบ้าง

          5. มีความเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นอย่างจริงจังและจริงใจ

          6. จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เกิดความมีระเบียบ  ไม่ปล่อยให้บ้านรกรุงรัง

          7. อย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย

          8. ไม่ควรจับกลุ่มให้เด็กสมาธิสั้นอยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่มีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะจะทำให้กลายเป็นเด็กที่เกเรก้าวร้าวได้

          9. ส่งเสริมจุดแข็งข้อดีในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกดี และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

          10. จัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้ได้ใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์ และใช้พลังงานส่วนเกินอย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว เช่น ออกกำลังกาย หรือเล่นดนตรี ตามที่เด็กสนใจ

          รู้อย่างนี้แล้ว เด็กที่สมาธิสั้นก็ลองนำวิธีที่แนะนำไปปฏิบัติตามกันได้

50 วิธีเอาชนะโรคเด็กสมาธิสั้น

add ย่อมาจากคำว่า attention deficit disorder หมายถึงโรคสมาธิสั้น
ครูอาจารย์รู้หลายอย่างที่แพทย์ไม่รู้ นั่นก็คือ อาการของ ADD ปรากฏ ได้หลายแบบมาก ซ้ำยังเกิด ร่วมกับ ความผิดปกติอื่นๆ อีก เช่น learning disabilities หรือปัญหา ทางอารมณ์ ราวกับว่า ปัญหาของ ADD เปลี่ยนตาม สภาพอากาศ ไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ แม้วิธีการรักษา ADD จะมี ปรากฏ ในหนังสือ มากมาย แต่ก็ยังคง เป็นงานยาก และหนัก กับผู้ปฏิบัติเสมอ
ไม่มีทางออกง่ายๆ สำหรับ การแก้ปัญหา ของ ADD ในห้องเรียน หรือที่บ้าน ความสำเร็จ ของการรักษา ในโรงเรียน ขึ้นอยู่กับ ความรู้ และความหนักแน่น สม่ำเสมอ ของครู และโรงเรียน เป็นอย่างมาก
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดบางประการในการช่วยเด็ก ADD ในโรงเรียน โดยมุ่งให้ครูอาจารย์ช่วยเด็กได้ ในทุกวัย แต่ครูอาจเห็นว่า บางข้อเหมาะสำหรับเด็กบางวัยมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลักการเรื่อง การมีกรอบ, การให้ความรู้ และการชักจูงสนับสนุน ยังคงเป็น แนวคิดหลักเสมอ
1) ข้อแรกคือ ท่านต้องมั่นใจว่าท่านกำลังช่วยเด็ก ADD มิใช่เป็นปัญหาของการได้ยิน การมองเห็น
2) หาผู้สนับสนุนท่านคือโรงเรียนและผู้ปกครอง การมีเด็ก ADD อยู่ในชั้น 2-3 คนก็เป็นเรื่องเหนื่อย มากอยู่แล้ว หาผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาได้ เช่น นักการศึกษาพิเศษ จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาประจำ โรงเรียน หรือกุมารแพทย์ หาความร่วมมือจากผู้ปกครอง และหาเพื่อนครูมาช่วย
3) จงรู้จักข้อจำกัดของตนเอง อย่ากลัวที่จะขอความร่วมมือ ครูคงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ADD
4) ถามเด็กว่าจะให้ช่วยอย่างไร เด็กเหล่านี้มักบอกได้ว่า อยากให้ท่านช่วยอย่างไรเมื่อถูกถาม อย่า อายที่จะถามเด็ก พยายามหาเวลาคุยกับเด็กตามลำพังและถามเขา คนที่ตอบได้ดีที่สุดเสมอคือตัว เด็กเอง ซึ่งเรามักละเลยมองข้ามไม่ถามจากเขา ในเด็กโตควรช่วยให้เด็กเข้าใจด้วยว่า ADD คือ อะไร ซึ่งจะช่วยท่านได้มาก
5) ระลึกเสมอว่า การมีกรอบจะช่วยเด็ก ADD กรอบคือสิ่งรอบตัวที่ช่วยควบคุมตัวเขา เพราะเขาคุม ตน เองไม่ได้ การมีตารางเวลาหรือรายการสิ่งที่ต้องทำช่วยเด็ก ADD ที่หลงออกไปกลับเข้ากรอบได้ พวกเขาต้องการสิ่งเตือน ต้องการการแนะ ต้องการการย้ำ ต้องการคำสั่ง ต้องการคนให้ ขีดจำกัด และต้องการกรอบที่ชัดเจนแน่นอน
6) อย่าลืมการเรียนกับความรู้สึก เด็กเหล่านี้ต้องการห้องเรียนที่สนุก รู้สึกว่าเขาทำได้ ไม่ใช่ล้มเหลว ต้องการความตื่นเต้นมากกว่าความเบื่อหรือความกลัว ควรให้ความสนใจกับเรื่องความรู้สึกคู่ไป กับการเรียนเสมอ
7) ให้เด็กเขียนกฎ ข้อตกลง แล้วติดในที่ที่มองเห็นได้ เป็นการแสดงให้เขารู้ว่า เขาควรทำอะไรบ้าง
8) ย้ำคำสั่ง เขียน พูดคำสั่งหลายๆครั้ง คนที่เป็น ADD ต้องการให้คนพูดย้ำหลายๆครั้ง
9) พยายามสบตาเด็กบ่อยๆ ซึ่งจะเป็นวิธีดึงเด็กกลับมาจากความคิดวอกแวก ทั้งเป็นการให้ขั้นตอน เด็กว่าถามได้ หรือแสดงว่าท่านสนใจเขาอยู่
10) ให้เด็กนั่งใกล้โต๊ะ หรือที่ที่ท่านยืนอยู่มากที่สุด
11) ให้ขอบเขตและข้อจำกัด โดยวิธีละมุนละม่อม ไม่ใช่ลงโทษ ทำอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้ง ทันท่วงที และง่ายๆ ไม่ต้องเข้าไปถกเถียงกับเด็กมากมายเหมือนทนายทำในศาล การพูดยิ่งยาวยิ่งไม่ได้ผล
12) ทำตารางเวลาให้สม่ำเสมอที่สุดที่ทำได้ ติดตารางบนโต๊ะเด็กหรือกระดาน ชี้ให้เด็กเห็นบ่อยๆ ถ้า ท่านจะเปลี่ยนตาราง ควรเตือนให้เด็กทราบก่อนหลายครั้ง การเปลี่ยนโดยไม่บอกล่วงหน้าทำให้ เด็กปฏิบัติตัวยากจนเหมือนไม่ร่วมมือ
13) พยายามให้เด็กจัดตารางเวลา หลังเลิกเรียนของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกิดขึ้นมากของเด็ก ADD คือการผัดผ่อน
14) พยายามลดการทดสอบย่อยๆกับเด็กเหล่านี้ เพราะไม่สามารถวัดความรู้จากเด็ก ADD ด้วยวิธีนี้ ได้
15) ปล่อยให้เด็กมีอิสระบ้าง เช่นให้ออกนอกห้องเป็นครั้งคราว ดีกว่าจำกัดไว้ แล้วเด็กหนีหายไปเลย เขียนไว้เป็นกฎ แล้วให้เด็กหัดควบคุมตนเอง
16) ให้การบ้านที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ เด็ก ADD อาจทำไม่ได้มากเท่าคนอื่น ควรสอนวิธีคิดให้ เด็กในระยะเวลาเรียนเท่าเดิม แต่ไม่ให้งานมากจนเด็กทำไม่ได้
17) ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด และช่วยเตือนให้เด็กอยู่กับร่องกับรอย เขาจะรู้ว่าเขาควรทำอะไร และหากทำตามเป้าหมายได้ จะเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจเด็กอย่างมาก
18) ย่อยงานใหญ่ๆให้เป็นงานย่อยๆ ถือเป็นหัวใจหลักในการที่ครูจะสอนลูกศิษย์ ADD ได้ เด็ก ADD เมื่อเผชิญกับงานใหญ่มากๆ จะท้อก่อนทำว่า ฉันไม่มีทางทำได้แต่หากย่อยงานใหญ่มากๆ จะ เป็นงานย่อยๆที่เขารู้สึกทำได้ จะช่วยให้เขามั่นใจขึ้น โดยทั่วไปเด็กมีความสามารถที่จะทำงานได้ มากกว่าที่เขาคิดเองอยู่แล้ว แต่การย่อยงานให้เขาทำ จะช่วยพิสูจน์สิ่งนี้แก่เขา ในเด็กเล็กวิธีช่วย ให้เด็กหงุดหงิดอาละวาดลดลงได้มาก แต่ในเด็กโต ความรู้สึกเป็นคนแพ้จะลดลง ท่านควรทำเช่นนี้เป็นประจำ
19) ทำตัวในรื่นเริง ง่ายๆมีอารมณ์ขัน หาสิ่งแปลกใหม่เรื่อยๆเพื่อทำให้เด็กกระตือรือร้น และคง ความสนใจ เด็กเหล่านี้มีชีวิตชีวา ชอบเล่น เกลียดสิ่งน่าเบื่อ รวมทั้งกฎเกณฑ์ ตาราง รายการ และครูที่น่าเบื่อ ควรแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติตามสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อ จงลองทำตัว สนุกๆเป็นครั้งคราว จะช่วยได้มาก
20) ป้องกันการเกิดสิ่งเร้าที่มากเกินไป เด็ก ADD เหมือนหม้อตั้งไฟมีโอกาสเดือดล้นได้ตลอดเวลา หากเห็นห้องไม่มีระเบียบ จัดการเสียตั้งแต่ต้น อย่ารอให้เป็นจลาจล
21) หาสิ่งสำเร็จเล็กๆน้อยๆ ในตัวเขาเสมอ เด็กเหล่านี้เคยพบแต่ความล้มเหลว และเขาต้องการคน ให้กำลังใจ แต่อย่าทำจนเกินไป เด็กต้องการและได้ประโยชน์จากคำชม การให้กำลังใจ เหมือน ให้น้ำกับคนกระหาย หากมีน้ำก็รอดและเติบโต หากขาดน้ำมีแต่จะแย่ลง บ่อยครั้งที่ความเสียหายจาก ADD เองไม่รุนแรงเท่าความเสียหายจากความไม่มีความมั่นใจในตนเอง ให้น้ำแต่พอดีแล้วเด็กจะสำเร็จ
22) เด็กเหล่านี้มักมีปัญหาความจำ ช่วยเด็กโดยแนะเคล็ดการช่วยจำ เช่น การย่อ ทำรหัส ผูกเป็น โคลง ทำสัญลักษณ์ หาเสียงคล้ายกัน จะช่วยเด็กได้มาก
23) สอนเด็กในการจำหัวข้อ ขีดเส้นใต้ ซึ่งเด็ก ADD มักไม่ทำ ถือเป็นการช่วยเตือนสติเด็กให้เรียนได้ ขณะกำลังเรียน อยู่จริง ซึ่งสำคัญที่สุกกว่าการให้ไปเรียนพิเศษเพิ่มทีหลัง
24) บอกเด็กก่อนว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรต่อไป บอกหัวข้อ แล้วค่อยตามด้วยเนื้อเรื่อง เด็ก ADD มัก เรียนจากการมองเห็นได้มากกว่าการฟัง ท่านอาจพูดไปเขียนไป เหมือนช่วยเติมกาวให้ความจำ
25) ใช้คำสั่งง่ายๆ ให้ทางเลือกง่ายๆ ให้ตารางง่ายๆ ยิ่งง่ายยิ่งเข้าใจได้ดี ใช้ภาษาให้น่าสนใจ เหมือน มีสีสัน จะช่วยดึงความสนใจ
26) เตือนให้เด็กรู้จักสังเกตตนเอง ซึ่งเด็กเหล่านี้มักไม่สามารถติดตามได้ว่าตนเองกำลังคิดหรือทำ อะไร การเตือนควรใช้คำถามที่สร้างสรร เช่น เมื่อกี้ หนูเพิ่งทำอะไร” “ถ้าให้ลองพูดอีกครั้งหนู จะพูดใหม่ว่าอะไร” “ทำไมหนูถึงว่าเด็กคนนั้นหน้าเสียตอนหนูพูดอย่างนั้นคำถามเหล่านี้จะ ช่วยให้เขาสังเกตตนเองเป็น
27) ทำสิ่งที่คาดหวังจากเด็กให้ชัดเจน
28) การให้สะสมคะแนนเอารางวัล เป็นส่วนช่วยในการควบคุมพฤติกรรม เด็ก ADD ตอบสนองดีกับ การให้การจูงใจและรางวัล เขาชอบการท้าทาย
29) ถ้าเด็กเข้าใจภาษากาย เช่น ท่าทาง, น้ำเสียง, หรือกาลเทศะ ได้จาก ควรช่วยเด็กให้เข้าสังคม ได้ง่ายขึ้น เช่น สอน ก่อนที่หนูจะเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง ถามว่าเขาอยากเล่าอะไรก่อน” “มอง หน้าคนอื่นด้วยในเวลาพูดเด็ก ADD มักถูกมองว่า หยิ่ง เห็นแก่ตัว ซึ่งที่จริงเขาไม่รู้วิธีเข้า สังคม ทักษะพวกนี้แม้ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ก็สอนได้
30) สอนวิธีการทำข้อสอบให้เด็ก
31) ทำการเรียนให้เหมือนเล่นเกมส์ การสร้างแรงจูงใจช่วย ADD ได้มาก
32) แยกเด็ก ADD ออกจากกัน ไม่ให้เป็นคู่หรือกลุ่ม เพราะมักทำให้เด็กแย่ลง
33) ให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วม เด็กเหล่านี้อยากเข้าร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ ตราบใดที่เด็กอยู่ใน ภาวะที่มีส่วนร่วม เด็กจะอยากทำและไม่วอกแวก
34) มอบความรับผิดชอบให้เด็กทำเองเสมอเมื่อเป็นไปได้
35) ลองทำบันทึกจากบ้าน โรงเรียน บ้าน ทุกวัน เพื่อช่วยให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจกัน และช่วยให้เด็กได้รับสิ่งที่ต้องการ
36) ลองทำรายงานประจำวัน
37) ช่วยเด็กให้ทำรายงาน และให้เด็กสังเกตตนเอง แล้วพบอาจารย์หลังเลิกเรียนทุกวัน
38) จัดเวลาพักสบายให้เด็กไว้ โดยให้เด็กทราบล่วงหน้าเพื่อเด็กจะได้เตรียมใจ การให้เวลาพักโดย เด็กไม่ได้คาด จะทำให้เด็กตื่นเต้นและถูกกระตุ้นมากเกินไป
39) พึงชมเชย ให้กำลังใจ ยอมรับ ทำให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าเสมอ
40) สำหรับเด็กโต ให้เด็กจดคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างฟังไว้ นอกเหนือจากจดสิ่งที่ครูพูดให้ฟัง จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น
41)
ลายมือเด็กเหล่านี้ อาจไม่ดีนัก ให้เด็กหัดใช้แป้นพิมพ์ หรือตอบคำถามปากเปล่าบ้าง 42) ทำตัวเหมือนผู้ควบคุมวงดนตรี ทำให้ลูกวงสนใจก่อนเริ่มเล่น โดยอาจทำตัวเงียบ เคาะโต๊ะ แบ่ง เวลาให้แต่ละคนในห้อง โดยอาจชี้ให้เด็กช่วยตอบ
43) จัด คู่หูเพื่อนช่วยเรียน และให้เบอร์โทรศัพท์ ติดต่อไว้
44) ช่วยอธิบาย ทำให้การรักษาดูเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อลดความอายของเด็ก
45) พบผู้ปกครองบ่อยๆ ไม่ใช่พบแต่เมื่อเกิดปัญหา
46) ให้อ่านออกเสียงที่บ้าน และในห้องเรียนเท่าที่เป็นไปได้ อาจให้อ่านนิทาน จะช่วยให้เด็กมี ทักษะในการคงความสนใจอยู่กับเรื่องๆเดียวได้
47) พูดย้ำ ย้ำ และย้ำ
48) การออกกำลังกาย ช่วย ADD ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ การออกกำลังกายหนักๆ เพราะช่วย ทำลายพลังงานส่วนเกิน ช่วยให้มีสมาธิ และเป็นการกระตุ้นสารต่างๆในร่างกายซึ่งเป็น ประโยชน์และสนุก และเขาจะทำตลอดไป
49) สำหรับเด็กโต ช่วยเด็กเตรียมตัวเรียนสำหรับวันรุ่งขึ้น โดยคุยกับเด็กว่าเขาจะเตรียมตัวอย่างไร
50) มองหาส่วนดีที่ปรากฏขึ้นในเด็กเสมอ เด็กเหล่านี้มักฉลาดกว่าที่เราเห็น มีความสร้างสรรค์ ขี้เล่น และเป็นกันเอง เขาพยายามจะ กลับมาสู้เสมอ เขาต้องการกำลังใจและดีใจที่มีคนช่วย จำไว้ ว่าต้องมีทำนองก่อนจะเขียนโน้ตประสานเสียงเสมอ

เด็กสมาธิสั้น รักษาได้

โมสาร์ท นักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่ โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นการทำงานของหลอดไฟที่ใช้กันในปัจจุบัน กระทั่ง อับบราฮัม ลินคอร์น ผู้ที่ยกเลิกระบบทาสในประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ก็ล้วนมีประวัติว่าเป็นโรคสมาธิสั้นทั้งสิ้น

สมาธิ
คือ กระบวนการที่คนเรามีจุดสนใจ จดจ่อ และเอาใจใส่เฉพาะกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเลือกที่จะสนใจเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นระยะเวลานานๆ ก็ได้ตามความต้องการของคนๆ นั้น รวมถึงความสามารถที่จะเบนความสนใจจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งได้เมื่อเราต้องการ

เด็ก


ความสนใจเกี่ยวข้องกับสมาธิอย่างไร?
ความสนใจ เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของสมาธิ การก่อให้เกิดสมาธินั้นต้องอาศัยความสนใจเป็นหลัก รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ความสนใจจึงเป็นการรวบรวมความคิดให้จดจ่อในจุดนั้นๆ ซึ่งการรวบรวมความคิดให้ยาวนานและต่อเนื่องจึงสามารถทำให้เกิดเป็นสมาธิขึ้นมาได้


สมาธิมีผลอย่างไรต่อเด็กในวัยเรียน
สมาธิเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ในคนทุกวัย ไม่เพียงแต่ในเด็กเท่านั้น แต่เด็กซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้นั้นหากมีสมาธิดีจะได้เปรียบกว่า ทั้งในด้านการฟัง การคิด การรับรู้ และมีความสามารถในการจดจำได้มากกว่าเด็กที่มีสมาธิสั้น เพราะเด็กที่มีสมาธิสั้นนั้นยากที่จะบังคับจิตใจให้จดจ่อหรือสนใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นงานที่ต้องทำอยู่เป็นระยะเวลานาน จะวอกแวกได้ง่ายได้ ซึ่งนอกจากสมาธิสั้นจะมีผลต่อการเรียนรู้แล้ว ยังมีผลเสียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกหลายอย่างต่อตัวเด็ก และต่อครอบครัวตามมาด้วย


สมาธิสั้นคืออะไร
คุณคงเคยได้ยินคุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณครูบ่นเด็กๆ ที่อยู่ไม่นิ่งว่า “ดื้อ” “อยู่ไม่สุข” “ทำไมไม่อยู่นิ่งๆ บ้าง” “ไม่ฟังครูเลย” “ใจลอย” “ขี้ลืม” “ขี้เกียจจัง” “อย่าพูดแทรก” “ซนหกล้มอยู่เรื่อย” “ซุ่มซ่าม” แน่นอนค่ะว่าเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวและตัวเด็กเองเป็นอย่างมาก เพราะเด็กจะไม่รู้จักระวังอันตรายและคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งจะทำให้พ่อแม่รู้สึกเครียดเพราะกังวลเป็นห่วงลูกตลอดเวลา เมื่อเป็นห่วงมากก็แสดงออกด้วยการตักเตือนหรือบ่นมากเป็นธรรมดา ส่งผลให้เด็กรู้สึกว่ามีปมด้อย เพราะถูกตำหนิอยู่เสมอ บางคนอาจถูกทำโทษจากพ่อแม่ หรือครู บางคนทะเลาะกับเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ทัน ผลการเรียนแย่ลงอาจสอบไม่ผ่าน จึงมักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนโง่ เรียนรู้อะไรยาก ไม่มีใครอยากคบด้วย เด็กจะยิ่งเครียด แล้วอาจแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว เพราะรู้สึกว่าไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

โดยทั่วไปแล้วในเด็กวัยเรียนจะพบเด็กสมาธิสั้นได้ร้อยละ 3-5 ซึ่งพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงถึงร้อยละ 4 สำหรับในประเทศไทยพบว่ามีเด็กสมาธิสั้นร้อยละ 5 โดยเฉลี่ยแล้วในห้องเรียนห้องหนึ่งจะพบเด็กสมาธิสั้นประมาณ 2- 3 คน !

ส่วนผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นนั้นก็มีเหมือนกัน สังเกตได้ว่าจะเป็นคนที่มีความสนใจอะไรน้อยเกินไป ซึ่งอาจขาดความสนใจบางส่วนหรือทั้งหมดทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำเป็นประจำ เขาจะรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่สามารถอดทนที่จะรอคอย หรือทำงานที่ต้องใช้ระยะเวลานานๆ ได้


แล้วอะไรคือสาเหตุของสมาธิสั้น?
โรคสมาธิสั้นนั้นเกิดจากการทำงานที่ไม่ปกติของระบบประสาทชีววิทยาภายในร่างกาย อันได้แก่ สมองส่วนหน้า (Frontal Lobe of Cerebral Hemisphere) ทำงานน้อยกว่าปกติ ซึ่งสมองส่วนนี้เป็นสมองส่วนที่ควบคุมความคิด การเกิดสมาธิ การจัดระเบียบและการทำกิจกรรมแบบมีจุดมุ่งหมาย ส่วนความผิดปกติอีกประการหนึ่งก็คือ การเกิดปัญหาของการหลั่งสารเคมีในสมองที่เรียกว่า Dopamine และ Norepinephrine ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยกระตุ้นทำให้มีการเคลื่อนไหว ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ เนื่องจากการขาดหรือมีสารเคมีดังกล่าวในปริมาณที่ไม่สมดุล และจะส่งผลให้แสดงพฤติกรรมผิดปกติจนไม่สามารถหยุดการกระทำได้ นอกจากนี้ การเป็นโรคภูมิแพ้ การที่สมองของเด็กได้รับความกระทบกระเทือนระหว่างการคลอด หรือได้รับการติดเชื้อหลังคลอด และการที่เด็กได้รับสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่างๆ เช่น สารตะกั่วล้วนอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้

พ่อแม่บางคนที่มีลูกสมาธิสั้น มักจะโทษตัวเองว่าเป็นเพราะตนเองเลี้ยงลูกไม่ดี ....ซึ่งขออธิบายค่ะว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดโรคสมาธิสั้น แต่การเลี้ยงดูและการดูแลที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง สามารถส่งผลให้เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอยู่แล้วมีอาการมากขึ้น ซึ่งในทางตรงกันข้าม การดูแลที่ดีกลับจะช่วยให้เด็กสามาธิสั้นมีอาการดีขึ้นได้


รู้ได้อย่าง...ว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น
การที่จะสรุปว่าเด็กคนใดเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้น ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ กุมารแพทย์ และจิตแพทย์ เป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งในประเทศไทยจะใช้คู่มือของ DSMIV 1994 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorder) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (Psycho American Association) ซึ่งลักษณะเฉพาะของสมาธิสั้น มีอยู่ 3 อย่างคือ

• อาการขาดสมาธิ (Inattention) จำแนกได้ 9 อาการ
• ซุกซนไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) จำแนกได้ 6 อาการ
• อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsiveness) จำแนกได้ 3 อาการ
• อาการดังกล่าวต้องแสดงออกก่อนอายุ 7 ปี


อาการขาดสมาธิ (Inattention) ประกอบด้วย
1. มีความเลินเล่อในการทำกิจกรรมหรือการทำงานอื่นๆ และมักจะละเลยในรายละเอียด
2. ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
3. ดูเหมือนไม่เชื่อฟังและไม่สนใจเมื่อมีคนพูดด้วย
4. ทำกิจกรรมไม่เสร็จ ทำตามคำสั่งไม่จบ
5. มีความลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรมที่ทำ
6. หลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้สมาธิ
7. ทำของหายบ่อยๆ
8. วอกแวกง่าย
9. ขี้ลืมเป็นประจำ


เด็ก, สมาธิสั้นDonald Getz, O.D. เล่าว่า คุณแม่ของเด็กชายชาวอเมริกันชื่อเอ็ดดี้ อายุ 7 ปี บอกว่าบางทีเอ็ดดี้เขียนหนังสือได้ 1-2 ตัว ก็จะลุกขึ้นวิ่งเล่นหรือเลิกทำไปเสียเฉยๆ บางทีเขียนหนังสือหรือระบายสีได้นิดเดียวก็เปลี่ยนที่ เพราะเขาขาดสมาธิ แล้วอาจมีปัญหาทางสายตาด้วยการเขียนหนังสือกลับทาง เช่น การเขียนหนังสือจะเขียนกลับจาก “was” เป็น “saw”, “on” เป็น “no” หรือเขียนตัวเลขกลับ จาก “6” เป็น “9” หรือ “12” เป็น “21”เป็นต้น

อาการซนไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) ประกอบด้วย
1. นั่งไม่นิ่งขยับไปมา บิดตัวไปมา
2. ลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในที่อื่นที่ต้องนั่ง
3. วิ่งปีนป่านในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม ( มีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย)
4. ไม่สมารถเล่นเงียบๆ คนเดียวได้
5. เคลื่อนไหวตลอดเวลา
6. พูดมากเกินไป


อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsiveness) ประกอบด้วย
1. ไม่อดทนรอคอย
2. พูดโพล่งออกมาในขณะที่ยังถามไม่จบ
3. พูดแทรกขัดจังหวะการสนทนาหรือการเล่น

ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องปรากฏขึ้น อย่างน้อยใน 2 สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ในห้องเรียน สนามเด็กเล่น หรือในที่ชุมชน ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้นำเสนอเพื่อให้คุณผู้อ่านใช้สังเกตลูกหลานเท่านั้น อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยว่าเด็กเป็นสมาธิสั้นหรือไม่ยังต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์ค่ะ


เราจะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นได้อย่างไร
• หากสังเกตว่าเด็กเข้าข่ายมีอาการสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์ หรือจิตแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย นอกจากนี้แพทย์ยังจะให้ตรวจโรคทางจิตอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจสติปัญญาของเด็ก ซึ่งในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจจะมีการสัมภาษณ์คุณพ่อ-แม่ และครู หากเด็กถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แพทย์จะให้การรักษาต่อไป

• การใช้พฤติกรรมบำบัดโดยนักจิตวิทยา ในกรณีที่เด็กมีอาการก้าวร้าวรุนแรง

• การทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้เด็กได้พัฒนาทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ

• ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานอาหารที่ใส่สี ใส่สารกันบูด สารแต่งกลิ่นรส หรือน้ำตาลมากเกินไป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เด็กมีอาการสมาธิสั้นมากขึ้น

• การเลี้ยงดูเด็กโดยไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เช่น การที่พ่อแม่เร่งรีบในการทำกิจวัตรประจำวัน การให้เด็กเล่นเกมส์มากๆ หรือการปล่อยให้ดูโทรทัศน์ตลอดเวลา จะมีผลทำให้เด็กที่สมาธิสั้นอยู่แล้วมีอาการมากขึ้น และอาจทำให้เด็กปกติเกิดอาการที่เรียกว่า “สมาธิสั้นเทียม”ได้ หมายถึงว่าจากเด็กที่ไม่ค่อยอยู่นิ่งอยู่แล้วจะกลายเป็นไม่อยู่นิ่งมากขึ้น และไม่รู้จักควบคุมตนเอง ดังนั้นการจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การตั้งกฎระเบียบภายในบ้าน และการสอนให้รู้จักการทำงานให้เป็นขั้นตอน ตามลำดับก่อนหลัง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูเด็ก และนอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็ก การปรับทัศนคติที่ดีต่อเด็ก มีความเข้าใจเด็ก ให้กำลังใจ และไม่ตำหนิเด็กด้วย

• คุณครูที่โรงเรียนจะช่วยเด็กได้มากในการให้เวลากับเด็ก หาสิ่งที่เด็กชอบมาให้ทำ พร้อมทั้งให้กำลังใจ คำชมเชย และรางวัลแก่เด็ก

สมาธิสั้นหากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ขาดความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตนเอง คิดว่าตัวเองมีปมด้อย ไม่เก่ง ไม่ดีเหมือนคนอื่น ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้จะทำให้เด็กต่อต้านสังคม ก้าวร้าว ทำตัวผิดระเบียบ บางคนอาจถึงขั้นหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อชดเชยความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ซึ่งการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้

การรักษาโรคสมาธิสั้นอาจต้องใช้เวลาในการรักษาตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ซึ่ง โรคสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่ นอกจากจะได้รับการรักษาโดยยาแล้ว การรู้จักและยอมรับตนเองว่าเป็นโรคสมาธิสั้นและพยายามจัดระเบียบให้กับตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและอาจจะมีโอกาสได้แสดงความสามารถพิเศษในเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกมาก็ได้ เพราะคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีสติปัญญาปกติ จนถึงดีเลิศ ตัวอย่างบุคคลสำคัญที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ โมสาร์ท นักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่ โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ที่สามารถคิดค้นการทำงานของหลอดไฟที่ใช้กันในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่ง อับบราฮัม ลินคอร์น ผู้ที่ยกเลิกระบบทาสในประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ บุคคลเหล่านี้ล้วนมีประวัติว่าเป็นโรคสมาธิสั้นทั้งสิ้น แต่พวกเขาเหล่านี้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเขาสามารถแสดงศักยภาพที่โดดเด่นของเขาออกไปทั่วโลก

ดังนั้น สมาธิสั้นรักษาได้ โดยเฉพาะการรักษาที่เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กจะช่วยเหลือให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ และครู ร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษา ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และพยายามทำความเข้าใจอาการของโรค ทำความเข้าใจเด็ก ลดทัศนคติที่ไม่ดี และลดคำตำหนิติเตียน รวมถึงการให้กำลังใจ ให้ความสำคัญแก่เด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้

นอกจากการร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างพ่อแม่และครูแล้ว ความเข้าใจของบุคคลในสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากเราจะช่วยเหลือเด็กแล้วเรายังช่วยเหลือครอบครัวของเขาด้วย แล้วอาจจะส่งผลทำให้เด็กบางคนได้แสดงความสามารถพิเศษของเขาออกมา เขาอาจจะมีความสามารถโดดเด่นเช่น โมสาร์ทหรือบุคคลสำคัญอื่นๆ ก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติต่อไปในอนาคตด้วย

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

เพลงเด็ก 7วัน7สี

เพลงสำหรับเด็ก Mr.Sun

เทคนิคการเล่านิทาน


1. ควรทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องนิทานที่จะเล่าเสียก่อนโดยจินตนาการออกมา
เป็นภาพอ่านเรื่องช้าๆ เพื่อจับใจความ
2. ควรเลือกคำที่เป็นคำง่ายๆ ที่เด็กฟังหรือนึกออก เป็นภาพในจินตนาการได้
3. เมื่อในเนื้อเรื่องมีตัวละครคุยกันให้ใช้บทสนทนา เพราะทำให้เด็กตื่นเต้นกว่า
4. เริ่มต้นเรื่องให้ดีเพื่อเรียกร้องความสนใจ พยายามหลีกเลี่ยงการบรรยายและ
การอธิบายที่ไม่จำเป็น
18
5. การเล่าเรื่องควรใช้เสียงแบบสนทนากัน คือ ช้า ชัดเจน มีหนักเบา แต่ไม่ควรมี
เอ้อ อ้า ที่นี้
6. ขณะที่เล่านิทานควรจับเวลาให้ดี เว้นจังหวะตามอารมณ์ของเรื่อง เช่น ถ้าเนื้อเรื่อง
มีสิ่งเร้าใจก็พูดให้เร็วขึ้นทำท่าจริงจัง
7. นิทานที่นำมาเล่าให้ยาวพอๆกับระยะความสนใจของเด็กคือ ประมาณ 15–25 นาที
สำหรับเด็กประถมศึกษา หรือเป็นคำก็จะประมาณ 1,000 คำ
8. เวลาเล่าต้องพยายามเป็นกันเองให้มากที่สุด ให้ความรักความสนิทสนมกับเด็ก
อย่างจริงจัง
9. เวลาเล่าควรมีรูปภาพ ประกอบ อาจเป็นหนังสือภาพ หุ่นสื่อการสอนอื่นๆ จะช่วย
ให้เด็กสนใจยิ่งขึ้น
10. เวลาเล่าอย่าย่อเรื่อง ให้สั้นมากจนเกินไปจนขาดความน่าสนใจไป และจะทำให้
เด็กไม่รู้เรื่อง
11. จัดบรรยากาศของห้องให้เหมาะ เช่น อาจนั่งเล่ากับพื้น หรือเชิดหุน่ ประกอบ
การเล่าหรืออาจจะไปเล่าใต้ต้นไม้ นอกห้องเรียนก็ได้
12. อย่าแสดงท่าทางประกอบการเล่ามากเกินไปจะทำให้นิทานหมดสนุกพยายามเล่า
ให้เป็นไปตามธรรมชาติง่ายๆ และมีชีวิตชีวา
13. ขณะที่เล่าอาจให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเล่านิทานด้วยก็ได้ เช่น แสดงท่าตาม
เนื้อเรื่องแต่ไม่ควรจะให้บ่อยนัก
14. ขณะที่เล่านิทานสายตาของครูจะต้องมองกวาดดู นักเรียนได้ทุกคน อาจจะนั่ง
เป็นครึ่งวงกลม หรือนั่งกับพื้นก็ได้
15. ขณะที่กำลังเล่านิทานถ้าหากมีเด็กพูด หรือถามขัดจังหวะ ครูควรบอกให้รอ
จนกว่าจะจบเรื่อง
16. หลังจากการเล่านิทาน ควรเปิดโอกาสให้เด็กถามและวิพากษ์ วิจารณ์แต่ไม่
ควรบังคับเด็กให้พูด ให้ถาม เพราะจะทำให้เด็กเสียความเพลิดเพลิน
17. หลังจากการเล่านิทานแล้วอาจจะให้เด็กได้แข่งขันกันตั้งชื่อเรื่องก็ได้เพื่อเป็น
การส่งเสริมให้เด็กได้ติดตามและเพื่อความเข้าใจในเรื่องที่ครูได้เล่ามาแล้ว
18. ถ้านิทานเรื่องยาวครูอาจจะเล่าเป็นตอนๆ ก็ได้ เพื่อเป็นการเร้าให้เด็กอยากมา

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กดี..เก่ง..น่ารัก สร้างได้ด้วยแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่

เด็กดี เด็กเก่ง เด็กน่ารัก คำนิยามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเห็นลูกน้อยเติบโตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คำนิยามนี้สามารถสร้างได้ด้วยสองมือพ่อแม่ค่ะ โดยเริ่มต้นที่การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก
Parents as Role Models
     เด็กวัย 3-9 ปีเป็นช่วงวัยแห่งการซึมซับ จดจำ ข้อมูลและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบด้าน ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีของพ่อแม่ (Positive Role Mode) จึงสำคัญมาก เพราะไม่เพียงเด็กๆ จะซึมซับและเลียนแบบการกระทำด้วยสิ่งที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เท่านั้น แต่หมายรวมถึงแนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อ บุคลิกภาพ ท่าทาง นิสัย และอื่นๆ จากพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้แบบทำซ้ำบ่อยๆ รับรู้และเชื่อมโยง จนหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมต่อไป
     นพ.อุดม เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก ฮิวแมนแอนด์โซเชียลอินโนเวชั่น จำกัด ได้อธิบายกลไกการทำงานของสมองซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กด้วยเซลล์กระจกเงาว่า สมองมนุษย์จะมีเซลล์ชนิดหนึ่งชื่อ Mirror Neurons หรือเซลล์กระจกเงา เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการลอกเลียนแบบสิ่งที่มองเห็น แล้วซึมซับเข้าไปเพื่อหล่อหลอมให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ตามแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวจะกำหนด สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เซลล์กระจกเงาก็จะทำหน้าที่หล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นแบบนั้น
     ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นวิถีปฏิบัติตามปกติ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยด้วยค่ะ
     * การเรียนรู้จากตัวแบบของหนูน้อยอนุบาล 1 เปรียบเสมือนฟองน้ำที่พร้อมจะซึมซับทุกรูปแบบในสิ่งที่รับเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเก็บสะสมข้อมูลที่ได้รับอยู่ตลอดเวลา
     * สำหรับเด็กอนุบาล 2 ทุกข้อมูลที่สั่งสมไว้เริ่มมีการเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น พร้อมรับฟังต่อเหตุผลรวมถึงที่มาของสิ่งที่สัมผัส และพร้อมต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อได้รับโอกาส เพราะวัยนี้ใช้ภาษาได้ดีขึ้นแล้ว
      * อนุบาล 3 มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น สนุกกับการแก้ไขปัญหาด้วยการลองผิดลองถูก ชอบซักถามในสิ่งที่ได้รับรู้
     * วัยประถมตอนต้น พร้อมแลกเปลี่ยน และต่อยอดจากสิ่งที่เด็กๆ ได้เห็นจากแบบอย่างทุกรูปแบบทั้งในและนอกบ้าน ชอบความท้าทายและพร้อมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
ต้นแบบทำดี
     * ให้ลูกซึมซับกับสิ่งที่เห็นด้วยต้นแบบคำขอบคุณ ขอโทษ สวัสดี ตามโอกาสของการใช้คำเหล่านี้จนเคยชิน เช่น กล่าวคำขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบของให้ กล่าวคำขอโทษ เมื่อเดินชนคุณพ่อ หรือ “ขอบใจนะลูกที่หยิบหนังสือมาให้แม่” ทักทายคำว่าสวัสดีพร้อมยกมือไหว้เมื่อไปเยี่ยมคุณยาย
     * ทุกคำพูดและการกระทำควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น คุณพ่อบอกลูกว่าการทิ้งขยะไม่ถูกที่เป็นสิ่งไม่ดี แต่คุณพ่อกลับเผลอทิ้งขยะเกลื่อนกลาดเสียเอง จะทำให้ลูกเกิดความสับสนในพฤติกรรมและคำพูดได้ค่ะ
     * จัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้หนูได้ซึมซับ เช่น มีมุมหนังสือดีๆ สำหรับเด็ก มีอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสม อุปกรณ์วาดภาพระบายสี หรือของเล่นที่หลากหลาย เจ้าตัวเล็กก็จะซึมซับและเลือกใช้สิ่งของที่เหมาะสมทำกิจกรรมร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่
     * มันไม่ได้เป็นความผิดของหนูค่ะ หนูไม่ได้เป็นคนทำ คำพูดแบบนี้อาจเป็นคำพูดที่ติดปากลูกได้ เพราะทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มีปัญหาก็มักจะกล่าวโทษคนอื่น หรือสิ่งอื่นอยู่เสมอ เด็กๆ ก็จะซึมซับกับภาพเหล่านี้จนเคยชินและนำมาใช้กับตัวเอง
     * เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชักชวนลูกให้ทำในสิ่งดี หากมีคำอธิบายถึงกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่ให้ลูกได้เข้าใจ พฤติกรรมนั้นจะทรงพลังและมีแรงจูงใจให้ทำดีมากขึ้นด้วยค่ะ เช่น “เราออกกำลังกายและกินผักแบบนี้จะทำให้หนูไม่เป็นหวัดไงคะ ร่างกายเราจะแข็งแรง” เป็นต้น
ต้นแบบคิดดี
     * แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่และลูก โดยยกตัวอย่างของบุคคลใกล้ตัว เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือคนในหมู่บ้านที่ลูกรู้จัก เปิดมุมมองพูดคุยในแง่มุมการทำความดี การช่วยเหลือ หรือหยิบยกภาพพฤติกรรมรุนแรง เช่น การทะเลาะกัน พูดคุยถึงผลของพฤติกรรมดังกล่าว
     * หากต้องการให้ลูกเป็นเด็กที่เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การแสดงออกให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่นั้นเคารพความคิดเห็นของลูก ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่า แสดงความคิดเห็น ตัดสินใจและทำในสิ่งที่ลูกต้องการพร้อมทั้งยอมรับต่อการกระทำของลูก
     * ให้ลูกได้มีส่วนรับผิดชอบ ด้วยการมอบหมายงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดบ้าน ล้างจาน ล้างผัก และสร้างมุมมองที่ดีๆ ต่องานเหล่านั้นด้วยการสอดแทรกวิธีการจัดการ เช่น “ระหว่างล้างจานกองโตกับกวาดใบไม้หน้าบ้าน เราจะทำทั้งสองอย่างให้เสร็จพร้อมกันได้อย่างไรนะ” เป็นต้น
ต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ
คุณพ่อคุณแม่คือ บุคคลต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้ปฏิบัติตาม ในทุกๆ ด้านที่เป็นเรื่องดีๆ ของคุณพ่อคุณแม่ เช่น นักกีฬาที่ใส่ใจต่อสุขภาพ นักอ่านตัวยงที่ไม่พลาดติดตามเรื่องราวใหม่ หรือนักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือหน้าที่การงานที่เป็นต้นแบบให้ลูกได้ก้าวเดินตาม เป็นต้น
     * ให้ลูกได้เป็นส่วนหนึ่งของการได้ช่วยเหลือและเรียนรู้ในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะทำให้ลูกได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับงานของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เช่น เล่าเรื่องราวในหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่สนใจอ่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก
     * พูดคุยเล่าประสบการณ์การทำงานของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟัง เช่น วิธีการแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ในการทำงาน จะให้ลูกเข้าใจได้ดีต้องย่อยให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายด้วยนะคะ
     * ให้ลูกได้เรียนรู้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้เขาได้รู้จักอาชีพหรือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่อย่างใกล้ชิดค่ะ
     * เมื่อมีโอกาสให้ลูกได้สัมผัสกับชีวิตการทำงานของคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด ตามสมควรจะทำให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกมากขึ้น
Important Notes
    * ความสม่ำเสมอ การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกนั้นไม่ใช่ทำเพียงครั้งสองครั้ง หรือเพียงสัปดาห์เดียวก็ล้มเลิก เพราะเด็กยังไม่อาจตัดสินได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องมีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติโดยทำให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันค่ะ
     * ให้กำลังใจ ชื่นชม เมื่อลูกทำในสิ่งที่ดีที่เหมาะสม นอกจากเป็นแรงเสริมให้พฤติกรรมที่ดีของลูกอยู่ยั่งยืนแล้วยังเสริมให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นด้วย และในขณะเดียวกันให้คำชี้แนะ เมื่อพบปัญหาหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมค่ะ
     * ควรให้ลูกมีอิสระตัดสินใจเลือกเรียนรู้และซึมซับในสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องการ ไม่ควรบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง
     * สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ด้วยบรรยากาศแห่งความเข้าใจ ยืดหยุ่น มีเหตุผล ลูกจะมีความมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์ เป็นเกราะป้องกันตัวแบบด้านลบรอบด้านได้เป็นอย่างดีค่ะ ให้ทุกๆ การกระทำของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งกำลังถูกจับจ้องด้วยสองตา สองหู และทุกๆ การสัมผัสของลูก ต้องเป็นการกระทำเชิงบวก เพื่อให้ลูกสะสมและหล่อหลอมการเป็นเด็กดี เด็กเก่ง เด็กน่ารัก…ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไปค่ะ

เด็กซน คือ เด็กป่วย หรือ ?

โดย พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู
      เป็นที่รู้กันค่ะ ว่าเรื่อง “เด็กซน” แม้ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง แต่ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับคุณ พ่อคุณแม่ ได้ไม่น้อย แต่ก่อนที่จะเหนื่อย ท้อใจ หรือออกฤทธิ์ กำหราบความซนของลูกไปซะก่อน มาทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมสุดซนของลูกจาก
พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู เป็นกุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเท่านั้น
แต่ยังเป็นคุณแม่ที่มี ลูกอยู่ในวัยนี้ด้วยค่ะ
วัยนี้...วัยซน
     คุณหมอและคุณแม่บอกว่า จริงๆแล้วความซนเป็นธรรมชาติของเด็กวัย 3-6 ขวบเลยค่ะ พ่อแม่ควรจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำ ถ้าลูกตัวเองซน ไม่นั่งนิ่งเงียบ หรือไม่ยอมเล่นอะไรเลย ส่วนกิจกรรมการซนของเด็ก แต่ละคนนั้นจะไม่เหมือนกันค่ะ เนื่องจากพัมนาการที่แตกต่างกันไป เด็กผู้ชายพัมนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ จะไวกว่าเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กผู้หญิง จะมีพัฒนาการทางภาษาไวกว่าเด็กผู้ชายเมื่อถึงเวลาที่เขาคิดทำ กิจกรรมต่างๆตามพัฒนาการ ผู้ใหญ่มักจะมองว่าเด็กซน แต่จริงๆแล้วเขาต้องใช้พลังงานและความสามารถ ที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น เพราะฉะนั้นคุณหมอแนะนำว่าเราควรจะสนับสนุนค่ะ
      เด็กช่วงวัยนี้จะมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างเยอะ (autonomy) สืบเนื่องจากพัฒนาการทางร่าง กายของเขาซึ่งเริ่มทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เริ่มวิ่งได้ดี พูดเริ่มคล่อง มีทักษะความสามารถมากขึ้นเยอะเมื่อ เทียบกับเมื่อก่อน แต่เรื่องการตัดสินใจ การใช้เหตุผลยังไม่ดีพอ พฤติกรรมในการแสดงออกของเขาจะ เป็นการลองผิดลองถูกมากกว่า
      ช่วงวัยนี้จะลักษณะคล้ายๆกับวัยรุ่น คือ คิดว่าพึ่งพาตัวเองได้ไม่เหมือนกับเด็กเล็กๆ ที่ต้องให้อุ้มตลอด แต่ในขณะเดียวกัน เขายังพึ่งพาตัวเองตัวเองได้โดยไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นบางครั้งจะเกิดปัญหาพฤติกรรม ที่ขัดแย้งกัน เหมือนวัยรุ่นที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว อยากออกจากบ้าน อยากคบเพื่อนเอง ทำอะไรเอง แต่ใน ขณะเดียวกันก็ยังต้องขอเงินพ่อแม่อยู่ ตัวเองสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้ร้อย เปอร์เซ็นต์
ซนมาก = ป่วย ?
แม้จะรู้ว่าอาการซนเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ แต่พ่อแม่หลายคนก็ยังวิตกกังวลว่าควรจะพาเจ้าตัวเล็กที่ตอนี้กำลังซนเหลือเกินนั้นไปหาหมอ
ดีไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณหมอแนะนำว่าให้ลองสังเกตพฤติกรรมการซนของลูกก่อนค่ะ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ จึงควรพาไปพบแพทย์ค่ะ
     - ซนจนเกิดอุบัติเหตุบ่อย ซนจนไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง เล่นแผลงๆเช่น ชอบปืนขึ้นไปบนที่สูงๆแล้วกระโดดลงมา ชอบวิ่งตัดหน้ารถ
     - ซนจนขัดขวางพัฒนาการที่ควรจะเป็นของเขา เช่น ซนจนไม่ฟังอะไรเลย สอนอะไรหรือให้ทำอะไรก็ไม่ฟัง
     - ซนจนเป็นปัญหาเรื่องการเรียนและการเข้าสังคม เช่น ชอบเล่นแรงๆ จนเพื่อนๆไม่อยากเล่นด้วย
หากลูกน้อยวนขนาดนี้ล่ะก็ ควรจะต้องไปพบแพทย์ค่ะ แต่ไม่ต้องตกใจค่ะ การไปพบแพทย์นั้นไม่ได้หมายความว่า เด็กซนทุกคนเป็นเพราะสมาธิสั้น หรือเป็นโรคนะคะ เพราะส่วนใหญ่สาเหตุของการซนที่พบบ่อยมากกว่าสาเหตุสองประการนั้นมากๆก็คือ ซนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือบุคคลที่ดูแลเด็กนั่นเองค่ะ เช่น
     - อยู่ในบ้านที่ไร้ระเบียบวินัย
     - อยู่ในครอบครัวที่ยุ่งเหยิงตลอดเวลา มีสิ่งกระตุ้นเยอะๆ
     - อยู่ในบ้านที่มีแต่ความรุนแรง ทะเลาะตบตี ด่าทอ
ลองสังเกต วิเคราะห์ดูนะคะว่าบ้านของเรามีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ แล้วลองปรับพฤติกรรมตัวเอง พฤติกรรมของผู้คนที่รายล้อมรอบตัวลูก และปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลูก ถ้าตัวเด็กไม่ได้มีความปกติอะไร แต่ซนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็จะทำให้เรื่องซนๆ ของลูกลดน้อยลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกันนะคะ
     1 นาที เด็ก 3-6 ขวบ สนใจ 3-6 นาที ถ้าเขาสนใจได้เกิน 10 นาที ถือว่าเขาเก่งมากแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้บางโรงเรียนมีการฝึกให้เด็กนั่งสมาธิ แต่ไม่ได้คาดหวังให้นั่งเหมือนผู้ใหญ่นะคะ อาจเป็นการนั่งนิ่งๆ หลับตา 3 นาที หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ทำสมาธิด้วยท่าทาง วึ่งมักเป็นท่วงท่าที่ช้าๆ ประกอบเพลงจังหวะช้าๆฟังสบาย เพื่อให้เด็กจดจ่อกับท่าทางที่กำลังทำและเนื้อเพลง ค่อยๆฝึกที่ละนิด เด็กจะเริ่มเคนชินกับบรรยากาศที่สงบค่ะ
     ฝึกการควบคุมตัวเอง อาจมีการกำหนดเป็นตารางเลยว่าวันนี้เขาจะต้องทำอะไร เวลาไหนทำอะไรบ้าง เด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ให้ลองใช้รูปภาพค่ะ เช่น 8 โมงต้องกินข้าว เราก็นำรูปเด็กกินข้าวมาแปะ 9โมงต้องอาบน้ำ เราก็ใช้รูปตัวการ์ตูนอาบน้ำเป็นต้น เมื่อเขาทำเสร็จ อาจจะให้เขาเอาสติ๊กเกอร์มาแปะหรือขีดออก วิธีนี้จะช่วยลดการออกคำสั่งของพ่อแม่ลงได้

ทำโทษสักทีจะดีไหมหมอ
     ในการปรับพฤติกรรมของเด็กซน บางครั้งอาจต้องมีการลงโทษกันบ้าง แต่วิธีลงโทษนั้นมีหลายแบบค่ะ การที่เราทำข้อตกลงกับลูกไว้ บอกเขาว่าถ้าหนูทำตามนี้ได้ หนูจะได้รางวัล ถ้าหนูทำตามนี้ไม่ได้ แม่จะงดรางวัล การงดรางวัลหรืองดทำกิจกรรม ที่เขาชอบถือเป็นการทำโทษแบบหนึ่งค่ะ ไม่แนะนำให้ลงโทษ โดยใช้ความรุนแรงหรือต่อว่าเขาให้อับอาย แต่เราควรจะใช้วิธีทำโทษแบบ positive
มากกว่า เมื่อทำดีก็ได้รางวัล ทำไม่ดีก็ไม่ได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องใส่อารามร์อะไรกับลูกเขาเองจะ เรียนรู้ว่าเมื่อเขาทำดีก็จะได้ดี เมื่อทำไม่ดีก็จะไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการค่ะ

การเลิกให้ความสนใจ(Ignoring)      เป็นการลงโทษอีกวิธีหนึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนที่ต้องการรับความสนใจจากผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เราอาจใช้วิธีเลิกให้ความสนใจขณะที่เด็กกำลังกระทำพฤติกรรมนั้น เขาจะสังเกตว่าเมื่อเขาทำดีก็จะกอดและชื่นชม แต่ถ้าทำไม่ดีท่าทางของแม่จะไม่เหมือนเดิม เป็นการแสดงออกโดยใช้ภาษากาย ซึ่งเป็นรูปธรรมและเด็กสามารถเข้าใจได้ดีกว่าคำพูด

     สำหรับวัยนี้ เมื่อเขาทำไม่ดีเราควรตอบสนองเขาด้วยท่าทางนุ่มนวล แต่หนักแน่นและจริงจัง ถ้าเราตอบสนองเขาด้วยอารมณ์ แต่ขณะดียวกันก็ไม่เอาจริง เขาจะไม่รู้สึกว่าต้องทำอะไร แต่ส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ตอบสนองลูกมักจะกลับกันค่ะ คือ พ่อแม่มักจะไม่มีความส่ำเสมอ บางครั้งลงโทษบางครั้งปล่อย แต่ในขณะเดียวกันก็จะใช้อาราณ์กับเด็กค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้เด็กจะเห็นแบบอย่างของความก้าวร้าว เขาจะเรียนรู้ว่าคนใกล้ตัวแก้ปัญหาด้วยการใช้อารมณ์ อาจทให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่นั้นแย่ลง
     วันนี้เขาไม่รู้ว่าเวลาดุเขา หรือเสียงดังกับเขาเพราะเรารักและหวังดีกับเขา เขาจะคิดว่าการดุนั้นหมายความว่าเราไม่รักเขา หากเราจะตีลูกในเวลาที่เขาทำผิดก็ไม่ควรจะมีอารมณ์รุนแรงร่วมด้วย ก่อนที่จะลงโทษต้องชี้แจงด้วยเหตุผลก่อนว่าเพราะลูกทำแบบนี้จึงต้องโดนทำโทษ
      สุดท้ายคุณหมอฝากมาบอกถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่า วิธีรับมือกันเด็กซนที่สำคัญที่สุด คือ ตัวพ่อแม่เองต้องอดทน อย่าใช้อารมณ์กับลูก การปรับพฤติกรรมจะสำเร็จได้ต้องอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี เด็กวัยนี้เขาไม่สามารถอยู่ในกฏระเบียบได้ทุกอย่างหรอกนะคะ และเสียว่าพฤติกรรมวนต่างๆของลูกล้วนแล้วเป็นสิ่งท้าทายควาสามารถของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม