วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กดี..เก่ง..น่ารัก สร้างได้ด้วยแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่

เด็กดี เด็กเก่ง เด็กน่ารัก คำนิยามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเห็นลูกน้อยเติบโตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คำนิยามนี้สามารถสร้างได้ด้วยสองมือพ่อแม่ค่ะ โดยเริ่มต้นที่การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก
Parents as Role Models
     เด็กวัย 3-9 ปีเป็นช่วงวัยแห่งการซึมซับ จดจำ ข้อมูลและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบด้าน ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีของพ่อแม่ (Positive Role Mode) จึงสำคัญมาก เพราะไม่เพียงเด็กๆ จะซึมซับและเลียนแบบการกระทำด้วยสิ่งที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เท่านั้น แต่หมายรวมถึงแนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อ บุคลิกภาพ ท่าทาง นิสัย และอื่นๆ จากพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้แบบทำซ้ำบ่อยๆ รับรู้และเชื่อมโยง จนหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมต่อไป
     นพ.อุดม เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก ฮิวแมนแอนด์โซเชียลอินโนเวชั่น จำกัด ได้อธิบายกลไกการทำงานของสมองซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กด้วยเซลล์กระจกเงาว่า สมองมนุษย์จะมีเซลล์ชนิดหนึ่งชื่อ Mirror Neurons หรือเซลล์กระจกเงา เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการลอกเลียนแบบสิ่งที่มองเห็น แล้วซึมซับเข้าไปเพื่อหล่อหลอมให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ตามแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวจะกำหนด สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เซลล์กระจกเงาก็จะทำหน้าที่หล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นแบบนั้น
     ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นวิถีปฏิบัติตามปกติ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยด้วยค่ะ
     * การเรียนรู้จากตัวแบบของหนูน้อยอนุบาล 1 เปรียบเสมือนฟองน้ำที่พร้อมจะซึมซับทุกรูปแบบในสิ่งที่รับเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเก็บสะสมข้อมูลที่ได้รับอยู่ตลอดเวลา
     * สำหรับเด็กอนุบาล 2 ทุกข้อมูลที่สั่งสมไว้เริ่มมีการเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น พร้อมรับฟังต่อเหตุผลรวมถึงที่มาของสิ่งที่สัมผัส และพร้อมต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อได้รับโอกาส เพราะวัยนี้ใช้ภาษาได้ดีขึ้นแล้ว
      * อนุบาล 3 มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น สนุกกับการแก้ไขปัญหาด้วยการลองผิดลองถูก ชอบซักถามในสิ่งที่ได้รับรู้
     * วัยประถมตอนต้น พร้อมแลกเปลี่ยน และต่อยอดจากสิ่งที่เด็กๆ ได้เห็นจากแบบอย่างทุกรูปแบบทั้งในและนอกบ้าน ชอบความท้าทายและพร้อมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
ต้นแบบทำดี
     * ให้ลูกซึมซับกับสิ่งที่เห็นด้วยต้นแบบคำขอบคุณ ขอโทษ สวัสดี ตามโอกาสของการใช้คำเหล่านี้จนเคยชิน เช่น กล่าวคำขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบของให้ กล่าวคำขอโทษ เมื่อเดินชนคุณพ่อ หรือ “ขอบใจนะลูกที่หยิบหนังสือมาให้แม่” ทักทายคำว่าสวัสดีพร้อมยกมือไหว้เมื่อไปเยี่ยมคุณยาย
     * ทุกคำพูดและการกระทำควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น คุณพ่อบอกลูกว่าการทิ้งขยะไม่ถูกที่เป็นสิ่งไม่ดี แต่คุณพ่อกลับเผลอทิ้งขยะเกลื่อนกลาดเสียเอง จะทำให้ลูกเกิดความสับสนในพฤติกรรมและคำพูดได้ค่ะ
     * จัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้หนูได้ซึมซับ เช่น มีมุมหนังสือดีๆ สำหรับเด็ก มีอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสม อุปกรณ์วาดภาพระบายสี หรือของเล่นที่หลากหลาย เจ้าตัวเล็กก็จะซึมซับและเลือกใช้สิ่งของที่เหมาะสมทำกิจกรรมร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่
     * มันไม่ได้เป็นความผิดของหนูค่ะ หนูไม่ได้เป็นคนทำ คำพูดแบบนี้อาจเป็นคำพูดที่ติดปากลูกได้ เพราะทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มีปัญหาก็มักจะกล่าวโทษคนอื่น หรือสิ่งอื่นอยู่เสมอ เด็กๆ ก็จะซึมซับกับภาพเหล่านี้จนเคยชินและนำมาใช้กับตัวเอง
     * เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชักชวนลูกให้ทำในสิ่งดี หากมีคำอธิบายถึงกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่ให้ลูกได้เข้าใจ พฤติกรรมนั้นจะทรงพลังและมีแรงจูงใจให้ทำดีมากขึ้นด้วยค่ะ เช่น “เราออกกำลังกายและกินผักแบบนี้จะทำให้หนูไม่เป็นหวัดไงคะ ร่างกายเราจะแข็งแรง” เป็นต้น
ต้นแบบคิดดี
     * แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่และลูก โดยยกตัวอย่างของบุคคลใกล้ตัว เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือคนในหมู่บ้านที่ลูกรู้จัก เปิดมุมมองพูดคุยในแง่มุมการทำความดี การช่วยเหลือ หรือหยิบยกภาพพฤติกรรมรุนแรง เช่น การทะเลาะกัน พูดคุยถึงผลของพฤติกรรมดังกล่าว
     * หากต้องการให้ลูกเป็นเด็กที่เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การแสดงออกให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่นั้นเคารพความคิดเห็นของลูก ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่า แสดงความคิดเห็น ตัดสินใจและทำในสิ่งที่ลูกต้องการพร้อมทั้งยอมรับต่อการกระทำของลูก
     * ให้ลูกได้มีส่วนรับผิดชอบ ด้วยการมอบหมายงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดบ้าน ล้างจาน ล้างผัก และสร้างมุมมองที่ดีๆ ต่องานเหล่านั้นด้วยการสอดแทรกวิธีการจัดการ เช่น “ระหว่างล้างจานกองโตกับกวาดใบไม้หน้าบ้าน เราจะทำทั้งสองอย่างให้เสร็จพร้อมกันได้อย่างไรนะ” เป็นต้น
ต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ
คุณพ่อคุณแม่คือ บุคคลต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้ปฏิบัติตาม ในทุกๆ ด้านที่เป็นเรื่องดีๆ ของคุณพ่อคุณแม่ เช่น นักกีฬาที่ใส่ใจต่อสุขภาพ นักอ่านตัวยงที่ไม่พลาดติดตามเรื่องราวใหม่ หรือนักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือหน้าที่การงานที่เป็นต้นแบบให้ลูกได้ก้าวเดินตาม เป็นต้น
     * ให้ลูกได้เป็นส่วนหนึ่งของการได้ช่วยเหลือและเรียนรู้ในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะทำให้ลูกได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับงานของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เช่น เล่าเรื่องราวในหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่สนใจอ่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก
     * พูดคุยเล่าประสบการณ์การทำงานของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟัง เช่น วิธีการแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ในการทำงาน จะให้ลูกเข้าใจได้ดีต้องย่อยให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายด้วยนะคะ
     * ให้ลูกได้เรียนรู้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้เขาได้รู้จักอาชีพหรือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่อย่างใกล้ชิดค่ะ
     * เมื่อมีโอกาสให้ลูกได้สัมผัสกับชีวิตการทำงานของคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด ตามสมควรจะทำให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกมากขึ้น
Important Notes
    * ความสม่ำเสมอ การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกนั้นไม่ใช่ทำเพียงครั้งสองครั้ง หรือเพียงสัปดาห์เดียวก็ล้มเลิก เพราะเด็กยังไม่อาจตัดสินได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องมีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติโดยทำให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันค่ะ
     * ให้กำลังใจ ชื่นชม เมื่อลูกทำในสิ่งที่ดีที่เหมาะสม นอกจากเป็นแรงเสริมให้พฤติกรรมที่ดีของลูกอยู่ยั่งยืนแล้วยังเสริมให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นด้วย และในขณะเดียวกันให้คำชี้แนะ เมื่อพบปัญหาหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมค่ะ
     * ควรให้ลูกมีอิสระตัดสินใจเลือกเรียนรู้และซึมซับในสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องการ ไม่ควรบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง
     * สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ด้วยบรรยากาศแห่งความเข้าใจ ยืดหยุ่น มีเหตุผล ลูกจะมีความมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์ เป็นเกราะป้องกันตัวแบบด้านลบรอบด้านได้เป็นอย่างดีค่ะ ให้ทุกๆ การกระทำของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งกำลังถูกจับจ้องด้วยสองตา สองหู และทุกๆ การสัมผัสของลูก ต้องเป็นการกระทำเชิงบวก เพื่อให้ลูกสะสมและหล่อหลอมการเป็นเด็กดี เด็กเก่ง เด็กน่ารัก…ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไปค่ะ

เด็กซน คือ เด็กป่วย หรือ ?

โดย พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู
      เป็นที่รู้กันค่ะ ว่าเรื่อง “เด็กซน” แม้ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง แต่ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับคุณ พ่อคุณแม่ ได้ไม่น้อย แต่ก่อนที่จะเหนื่อย ท้อใจ หรือออกฤทธิ์ กำหราบความซนของลูกไปซะก่อน มาทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมสุดซนของลูกจาก
พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู เป็นกุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเท่านั้น
แต่ยังเป็นคุณแม่ที่มี ลูกอยู่ในวัยนี้ด้วยค่ะ
วัยนี้...วัยซน
     คุณหมอและคุณแม่บอกว่า จริงๆแล้วความซนเป็นธรรมชาติของเด็กวัย 3-6 ขวบเลยค่ะ พ่อแม่ควรจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำ ถ้าลูกตัวเองซน ไม่นั่งนิ่งเงียบ หรือไม่ยอมเล่นอะไรเลย ส่วนกิจกรรมการซนของเด็ก แต่ละคนนั้นจะไม่เหมือนกันค่ะ เนื่องจากพัมนาการที่แตกต่างกันไป เด็กผู้ชายพัมนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ จะไวกว่าเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กผู้หญิง จะมีพัฒนาการทางภาษาไวกว่าเด็กผู้ชายเมื่อถึงเวลาที่เขาคิดทำ กิจกรรมต่างๆตามพัฒนาการ ผู้ใหญ่มักจะมองว่าเด็กซน แต่จริงๆแล้วเขาต้องใช้พลังงานและความสามารถ ที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น เพราะฉะนั้นคุณหมอแนะนำว่าเราควรจะสนับสนุนค่ะ
      เด็กช่วงวัยนี้จะมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างเยอะ (autonomy) สืบเนื่องจากพัฒนาการทางร่าง กายของเขาซึ่งเริ่มทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เริ่มวิ่งได้ดี พูดเริ่มคล่อง มีทักษะความสามารถมากขึ้นเยอะเมื่อ เทียบกับเมื่อก่อน แต่เรื่องการตัดสินใจ การใช้เหตุผลยังไม่ดีพอ พฤติกรรมในการแสดงออกของเขาจะ เป็นการลองผิดลองถูกมากกว่า
      ช่วงวัยนี้จะลักษณะคล้ายๆกับวัยรุ่น คือ คิดว่าพึ่งพาตัวเองได้ไม่เหมือนกับเด็กเล็กๆ ที่ต้องให้อุ้มตลอด แต่ในขณะเดียวกัน เขายังพึ่งพาตัวเองตัวเองได้โดยไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นบางครั้งจะเกิดปัญหาพฤติกรรม ที่ขัดแย้งกัน เหมือนวัยรุ่นที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว อยากออกจากบ้าน อยากคบเพื่อนเอง ทำอะไรเอง แต่ใน ขณะเดียวกันก็ยังต้องขอเงินพ่อแม่อยู่ ตัวเองสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้ร้อย เปอร์เซ็นต์
ซนมาก = ป่วย ?
แม้จะรู้ว่าอาการซนเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ แต่พ่อแม่หลายคนก็ยังวิตกกังวลว่าควรจะพาเจ้าตัวเล็กที่ตอนี้กำลังซนเหลือเกินนั้นไปหาหมอ
ดีไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณหมอแนะนำว่าให้ลองสังเกตพฤติกรรมการซนของลูกก่อนค่ะ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ จึงควรพาไปพบแพทย์ค่ะ
     - ซนจนเกิดอุบัติเหตุบ่อย ซนจนไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง เล่นแผลงๆเช่น ชอบปืนขึ้นไปบนที่สูงๆแล้วกระโดดลงมา ชอบวิ่งตัดหน้ารถ
     - ซนจนขัดขวางพัฒนาการที่ควรจะเป็นของเขา เช่น ซนจนไม่ฟังอะไรเลย สอนอะไรหรือให้ทำอะไรก็ไม่ฟัง
     - ซนจนเป็นปัญหาเรื่องการเรียนและการเข้าสังคม เช่น ชอบเล่นแรงๆ จนเพื่อนๆไม่อยากเล่นด้วย
หากลูกน้อยวนขนาดนี้ล่ะก็ ควรจะต้องไปพบแพทย์ค่ะ แต่ไม่ต้องตกใจค่ะ การไปพบแพทย์นั้นไม่ได้หมายความว่า เด็กซนทุกคนเป็นเพราะสมาธิสั้น หรือเป็นโรคนะคะ เพราะส่วนใหญ่สาเหตุของการซนที่พบบ่อยมากกว่าสาเหตุสองประการนั้นมากๆก็คือ ซนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือบุคคลที่ดูแลเด็กนั่นเองค่ะ เช่น
     - อยู่ในบ้านที่ไร้ระเบียบวินัย
     - อยู่ในครอบครัวที่ยุ่งเหยิงตลอดเวลา มีสิ่งกระตุ้นเยอะๆ
     - อยู่ในบ้านที่มีแต่ความรุนแรง ทะเลาะตบตี ด่าทอ
ลองสังเกต วิเคราะห์ดูนะคะว่าบ้านของเรามีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ แล้วลองปรับพฤติกรรมตัวเอง พฤติกรรมของผู้คนที่รายล้อมรอบตัวลูก และปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลูก ถ้าตัวเด็กไม่ได้มีความปกติอะไร แต่ซนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็จะทำให้เรื่องซนๆ ของลูกลดน้อยลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกันนะคะ
     1 นาที เด็ก 3-6 ขวบ สนใจ 3-6 นาที ถ้าเขาสนใจได้เกิน 10 นาที ถือว่าเขาเก่งมากแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้บางโรงเรียนมีการฝึกให้เด็กนั่งสมาธิ แต่ไม่ได้คาดหวังให้นั่งเหมือนผู้ใหญ่นะคะ อาจเป็นการนั่งนิ่งๆ หลับตา 3 นาที หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ทำสมาธิด้วยท่าทาง วึ่งมักเป็นท่วงท่าที่ช้าๆ ประกอบเพลงจังหวะช้าๆฟังสบาย เพื่อให้เด็กจดจ่อกับท่าทางที่กำลังทำและเนื้อเพลง ค่อยๆฝึกที่ละนิด เด็กจะเริ่มเคนชินกับบรรยากาศที่สงบค่ะ
     ฝึกการควบคุมตัวเอง อาจมีการกำหนดเป็นตารางเลยว่าวันนี้เขาจะต้องทำอะไร เวลาไหนทำอะไรบ้าง เด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ให้ลองใช้รูปภาพค่ะ เช่น 8 โมงต้องกินข้าว เราก็นำรูปเด็กกินข้าวมาแปะ 9โมงต้องอาบน้ำ เราก็ใช้รูปตัวการ์ตูนอาบน้ำเป็นต้น เมื่อเขาทำเสร็จ อาจจะให้เขาเอาสติ๊กเกอร์มาแปะหรือขีดออก วิธีนี้จะช่วยลดการออกคำสั่งของพ่อแม่ลงได้

ทำโทษสักทีจะดีไหมหมอ
     ในการปรับพฤติกรรมของเด็กซน บางครั้งอาจต้องมีการลงโทษกันบ้าง แต่วิธีลงโทษนั้นมีหลายแบบค่ะ การที่เราทำข้อตกลงกับลูกไว้ บอกเขาว่าถ้าหนูทำตามนี้ได้ หนูจะได้รางวัล ถ้าหนูทำตามนี้ไม่ได้ แม่จะงดรางวัล การงดรางวัลหรืองดทำกิจกรรม ที่เขาชอบถือเป็นการทำโทษแบบหนึ่งค่ะ ไม่แนะนำให้ลงโทษ โดยใช้ความรุนแรงหรือต่อว่าเขาให้อับอาย แต่เราควรจะใช้วิธีทำโทษแบบ positive
มากกว่า เมื่อทำดีก็ได้รางวัล ทำไม่ดีก็ไม่ได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องใส่อารามร์อะไรกับลูกเขาเองจะ เรียนรู้ว่าเมื่อเขาทำดีก็จะได้ดี เมื่อทำไม่ดีก็จะไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการค่ะ

การเลิกให้ความสนใจ(Ignoring)      เป็นการลงโทษอีกวิธีหนึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนที่ต้องการรับความสนใจจากผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เราอาจใช้วิธีเลิกให้ความสนใจขณะที่เด็กกำลังกระทำพฤติกรรมนั้น เขาจะสังเกตว่าเมื่อเขาทำดีก็จะกอดและชื่นชม แต่ถ้าทำไม่ดีท่าทางของแม่จะไม่เหมือนเดิม เป็นการแสดงออกโดยใช้ภาษากาย ซึ่งเป็นรูปธรรมและเด็กสามารถเข้าใจได้ดีกว่าคำพูด

     สำหรับวัยนี้ เมื่อเขาทำไม่ดีเราควรตอบสนองเขาด้วยท่าทางนุ่มนวล แต่หนักแน่นและจริงจัง ถ้าเราตอบสนองเขาด้วยอารมณ์ แต่ขณะดียวกันก็ไม่เอาจริง เขาจะไม่รู้สึกว่าต้องทำอะไร แต่ส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ตอบสนองลูกมักจะกลับกันค่ะ คือ พ่อแม่มักจะไม่มีความส่ำเสมอ บางครั้งลงโทษบางครั้งปล่อย แต่ในขณะเดียวกันก็จะใช้อาราณ์กับเด็กค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้เด็กจะเห็นแบบอย่างของความก้าวร้าว เขาจะเรียนรู้ว่าคนใกล้ตัวแก้ปัญหาด้วยการใช้อารมณ์ อาจทให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่นั้นแย่ลง
     วันนี้เขาไม่รู้ว่าเวลาดุเขา หรือเสียงดังกับเขาเพราะเรารักและหวังดีกับเขา เขาจะคิดว่าการดุนั้นหมายความว่าเราไม่รักเขา หากเราจะตีลูกในเวลาที่เขาทำผิดก็ไม่ควรจะมีอารมณ์รุนแรงร่วมด้วย ก่อนที่จะลงโทษต้องชี้แจงด้วยเหตุผลก่อนว่าเพราะลูกทำแบบนี้จึงต้องโดนทำโทษ
      สุดท้ายคุณหมอฝากมาบอกถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่า วิธีรับมือกันเด็กซนที่สำคัญที่สุด คือ ตัวพ่อแม่เองต้องอดทน อย่าใช้อารมณ์กับลูก การปรับพฤติกรรมจะสำเร็จได้ต้องอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี เด็กวัยนี้เขาไม่สามารถอยู่ในกฏระเบียบได้ทุกอย่างหรอกนะคะ และเสียว่าพฤติกรรมวนต่างๆของลูกล้วนแล้วเป็นสิ่งท้าทายควาสามารถของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม