วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กดี..เก่ง..น่ารัก สร้างได้ด้วยแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่

เด็กดี เด็กเก่ง เด็กน่ารัก คำนิยามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการเห็นลูกน้อยเติบโตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คำนิยามนี้สามารถสร้างได้ด้วยสองมือพ่อแม่ค่ะ โดยเริ่มต้นที่การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก
Parents as Role Models
     เด็กวัย 3-9 ปีเป็นช่วงวัยแห่งการซึมซับ จดจำ ข้อมูลและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบด้าน ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีของพ่อแม่ (Positive Role Mode) จึงสำคัญมาก เพราะไม่เพียงเด็กๆ จะซึมซับและเลียนแบบการกระทำด้วยสิ่งที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เท่านั้น แต่หมายรวมถึงแนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อ บุคลิกภาพ ท่าทาง นิสัย และอื่นๆ จากพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้แบบทำซ้ำบ่อยๆ รับรู้และเชื่อมโยง จนหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมต่อไป
     นพ.อุดม เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก ฮิวแมนแอนด์โซเชียลอินโนเวชั่น จำกัด ได้อธิบายกลไกการทำงานของสมองซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กด้วยเซลล์กระจกเงาว่า สมองมนุษย์จะมีเซลล์ชนิดหนึ่งชื่อ Mirror Neurons หรือเซลล์กระจกเงา เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการลอกเลียนแบบสิ่งที่มองเห็น แล้วซึมซับเข้าไปเพื่อหล่อหลอมให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ตามแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวจะกำหนด สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เซลล์กระจกเงาก็จะทำหน้าที่หล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นแบบนั้น
     ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นวิถีปฏิบัติตามปกติ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยด้วยค่ะ
     * การเรียนรู้จากตัวแบบของหนูน้อยอนุบาล 1 เปรียบเสมือนฟองน้ำที่พร้อมจะซึมซับทุกรูปแบบในสิ่งที่รับเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเก็บสะสมข้อมูลที่ได้รับอยู่ตลอดเวลา
     * สำหรับเด็กอนุบาล 2 ทุกข้อมูลที่สั่งสมไว้เริ่มมีการเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น พร้อมรับฟังต่อเหตุผลรวมถึงที่มาของสิ่งที่สัมผัส และพร้อมต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อได้รับโอกาส เพราะวัยนี้ใช้ภาษาได้ดีขึ้นแล้ว
      * อนุบาล 3 มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น สนุกกับการแก้ไขปัญหาด้วยการลองผิดลองถูก ชอบซักถามในสิ่งที่ได้รับรู้
     * วัยประถมตอนต้น พร้อมแลกเปลี่ยน และต่อยอดจากสิ่งที่เด็กๆ ได้เห็นจากแบบอย่างทุกรูปแบบทั้งในและนอกบ้าน ชอบความท้าทายและพร้อมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
ต้นแบบทำดี
     * ให้ลูกซึมซับกับสิ่งที่เห็นด้วยต้นแบบคำขอบคุณ ขอโทษ สวัสดี ตามโอกาสของการใช้คำเหล่านี้จนเคยชิน เช่น กล่าวคำขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบของให้ กล่าวคำขอโทษ เมื่อเดินชนคุณพ่อ หรือ “ขอบใจนะลูกที่หยิบหนังสือมาให้แม่” ทักทายคำว่าสวัสดีพร้อมยกมือไหว้เมื่อไปเยี่ยมคุณยาย
     * ทุกคำพูดและการกระทำควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น คุณพ่อบอกลูกว่าการทิ้งขยะไม่ถูกที่เป็นสิ่งไม่ดี แต่คุณพ่อกลับเผลอทิ้งขยะเกลื่อนกลาดเสียเอง จะทำให้ลูกเกิดความสับสนในพฤติกรรมและคำพูดได้ค่ะ
     * จัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้หนูได้ซึมซับ เช่น มีมุมหนังสือดีๆ สำหรับเด็ก มีอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสม อุปกรณ์วาดภาพระบายสี หรือของเล่นที่หลากหลาย เจ้าตัวเล็กก็จะซึมซับและเลือกใช้สิ่งของที่เหมาะสมทำกิจกรรมร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่
     * มันไม่ได้เป็นความผิดของหนูค่ะ หนูไม่ได้เป็นคนทำ คำพูดแบบนี้อาจเป็นคำพูดที่ติดปากลูกได้ เพราะทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มีปัญหาก็มักจะกล่าวโทษคนอื่น หรือสิ่งอื่นอยู่เสมอ เด็กๆ ก็จะซึมซับกับภาพเหล่านี้จนเคยชินและนำมาใช้กับตัวเอง
     * เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชักชวนลูกให้ทำในสิ่งดี หากมีคำอธิบายถึงกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่ให้ลูกได้เข้าใจ พฤติกรรมนั้นจะทรงพลังและมีแรงจูงใจให้ทำดีมากขึ้นด้วยค่ะ เช่น “เราออกกำลังกายและกินผักแบบนี้จะทำให้หนูไม่เป็นหวัดไงคะ ร่างกายเราจะแข็งแรง” เป็นต้น
ต้นแบบคิดดี
     * แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่และลูก โดยยกตัวอย่างของบุคคลใกล้ตัว เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือคนในหมู่บ้านที่ลูกรู้จัก เปิดมุมมองพูดคุยในแง่มุมการทำความดี การช่วยเหลือ หรือหยิบยกภาพพฤติกรรมรุนแรง เช่น การทะเลาะกัน พูดคุยถึงผลของพฤติกรรมดังกล่าว
     * หากต้องการให้ลูกเป็นเด็กที่เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การแสดงออกให้ลูกเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่นั้นเคารพความคิดเห็นของลูก ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่า แสดงความคิดเห็น ตัดสินใจและทำในสิ่งที่ลูกต้องการพร้อมทั้งยอมรับต่อการกระทำของลูก
     * ให้ลูกได้มีส่วนรับผิดชอบ ด้วยการมอบหมายงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดบ้าน ล้างจาน ล้างผัก และสร้างมุมมองที่ดีๆ ต่องานเหล่านั้นด้วยการสอดแทรกวิธีการจัดการ เช่น “ระหว่างล้างจานกองโตกับกวาดใบไม้หน้าบ้าน เราจะทำทั้งสองอย่างให้เสร็จพร้อมกันได้อย่างไรนะ” เป็นต้น
ต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ
คุณพ่อคุณแม่คือ บุคคลต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้ปฏิบัติตาม ในทุกๆ ด้านที่เป็นเรื่องดีๆ ของคุณพ่อคุณแม่ เช่น นักกีฬาที่ใส่ใจต่อสุขภาพ นักอ่านตัวยงที่ไม่พลาดติดตามเรื่องราวใหม่ หรือนักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือหน้าที่การงานที่เป็นต้นแบบให้ลูกได้ก้าวเดินตาม เป็นต้น
     * ให้ลูกได้เป็นส่วนหนึ่งของการได้ช่วยเหลือและเรียนรู้ในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะทำให้ลูกได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับงานของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เช่น เล่าเรื่องราวในหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่สนใจอ่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก
     * พูดคุยเล่าประสบการณ์การทำงานของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟัง เช่น วิธีการแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ในการทำงาน จะให้ลูกเข้าใจได้ดีต้องย่อยให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายด้วยนะคะ
     * ให้ลูกได้เรียนรู้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้เขาได้รู้จักอาชีพหรือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่อย่างใกล้ชิดค่ะ
     * เมื่อมีโอกาสให้ลูกได้สัมผัสกับชีวิตการทำงานของคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด ตามสมควรจะทำให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกมากขึ้น
Important Notes
    * ความสม่ำเสมอ การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกนั้นไม่ใช่ทำเพียงครั้งสองครั้ง หรือเพียงสัปดาห์เดียวก็ล้มเลิก เพราะเด็กยังไม่อาจตัดสินได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องมีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติโดยทำให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันค่ะ
     * ให้กำลังใจ ชื่นชม เมื่อลูกทำในสิ่งที่ดีที่เหมาะสม นอกจากเป็นแรงเสริมให้พฤติกรรมที่ดีของลูกอยู่ยั่งยืนแล้วยังเสริมให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นด้วย และในขณะเดียวกันให้คำชี้แนะ เมื่อพบปัญหาหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมค่ะ
     * ควรให้ลูกมีอิสระตัดสินใจเลือกเรียนรู้และซึมซับในสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องการ ไม่ควรบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง
     * สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ด้วยบรรยากาศแห่งความเข้าใจ ยืดหยุ่น มีเหตุผล ลูกจะมีความมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์ เป็นเกราะป้องกันตัวแบบด้านลบรอบด้านได้เป็นอย่างดีค่ะ ให้ทุกๆ การกระทำของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งกำลังถูกจับจ้องด้วยสองตา สองหู และทุกๆ การสัมผัสของลูก ต้องเป็นการกระทำเชิงบวก เพื่อให้ลูกสะสมและหล่อหลอมการเป็นเด็กดี เด็กเก่ง เด็กน่ารัก…ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไปค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม